หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๔ ครั้ง
การสร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธสำหรับสถานบริการสุขภาพและความงาม
ชื่อผู้วิจัย : สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  อำนาจ บัวศิริ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารและให้บริการของสถานบริการสุขภาพและความงาม ๒) เพื่อสร้างรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธสำหรับสถานบริการสุขภาพและความงาม ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธสำหรับสถานบริการสุขภาพและความงาม

             รูปแบบของการวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods) ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ใช้สร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธ และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารและให้บริการของสถานบริการสร้างเสริมสุขภาพและความงาม แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาสังเคราะห์รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาวะวิถีพุทธสำหรับสถานบริการสุขภาพและความงาม

             ผลการวิจัย พบว่า ผู้ใช้บริการของสถานบริการสุขภาพและความงามส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๔๐-๔๙ ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวและพนักงานบริษัท มีความต้องการรับบริการนวดตัว จากความปวดเมื่อยร่างกายในระดับรุนแรง ตัดสินใจใช้บริการเพื่อดูแลรักษาสุขภาพและความงาม และพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการมากที่สุด คือ พนักงานที่ให้บริการด้วยอาการกิริยาที่สุภาพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีมาตรฐานในการให้บริการ

การนำหลักเมตตา ขันติ และโสรัจจะ มาใช้อบรมพัฒนาพนักงาน ทำให้พนักงานมีพฤติกรรมการให้บริการด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความอดทน อดกลั้น และใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา โดยสถานบริการได้จัดให้มีกิจกรรม เสริมสัมพันธภาพระหว่างพนักงานและผู้รับบริการ เช่น สอนแต่งหน้าและนวดหน้า เพ้นท์เล็บ ทดลองทรีทเม้นท์ ดูแลผิวพรรณ และปรับบุคลิกภาพ เพื่อบริการให้ลูกค้าได้รับความรู้และเทคนิคการดูแลสุขภาพและความงาม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและทำให้เป็นที่พอใจของผู้รับบริการ

การใช้หลักอายุสสธรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางกาย ทำให้ผู้รับบริการมีสุขภาวะแบบองค์รวม ที่ดีทั้งในทางกาย จิต และสังคม โดยจัดให้มีกิจกรรม เช่น การฝึกโยคะเพื่อควบคุมอารมณ์และจิตใจ กิจกรรมการเต้นเข้าจังหวะเพื่อฝึกสมาธิ ฝึกพิจารณาความพอเพียงไปกับการปรุงอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ฟังเพลงธรรมะบรรเลงเพื่อการผ่อนคลาย การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นสัปปายะ เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับบรรยากาศ ความร่มรื่น เงียบสงบ

การใช้หลักโลกียธรรม บุญนิธิ และความสุข เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจที่ดี ในระหว่างให้บริการ ส่งผลให้ผู้รับบริการหน้าตาผุดผ่อง ผิวพรรณสดใส น้ำเสียงนุ่มนวล สุภาพ           มีอัธยาศัย เป็นต้น โดยจัดให้มีกิจกรรม เช่น การปฏิบัติสมาธิภาวนาระหว่างคอยรับบริการเพื่อการผ่อนคลายจิตใจและลดความวิตกกังวลและฝึกลมหายใจระหว่างรับการทรีตเม้นต์หรือทำกิจกรรม  การฝึกโยคะเพื่อสร้างความสมดุลในร่างกาย และดนตรีบำบัดโดยเปิดเพลงธรรมะบรรเลงเบาๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย

             การใช้หลักสามัคคีธรรม ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับบริการกับพนักงานและเจ้าของกิจการผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประกอบอาหาร การปรุงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การจัดงานสังสรรค์ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ ของชาติ งานทางวัฒนธรรมประเพณี งานทำบุญ งานกุศลในวาระต่างๆ สร้างความรักความผูกพัน ความสมัครสมานกลมเกลียว เป็นส่วนสร้างความนับถือกันและกัน สร้างความเป็นกันเอง ความจริงใจต่อกัน ทำให้กิจการมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕