บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการต่ออายุในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาพิธีกรรมการการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในสังคมไทยและในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์
ผลการวิจัยพบว่า ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาการต่ออายุมีด้วยเหตุดังนี้ คือ (๑) การต่ออายุด้วยการให้ทาน (๒) การต่ออายุด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ (๓) การต่ออายุเพราะการรู้จักหลักในการดำเนินชีวิต (๔) การต่ออายุด้วยอำนาจกรรม(๕) การต่ออายุด้วยการสาธยายมนต์(พระปริตร) (๖) การต่ออายุด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลักอิทธิบาท ๔ (๗) การต่ออายุด้วยความไม่ประมาท (๘) การต่ออายุด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐาน (๙) การต่ออายุด้วยการแผ่เมตตา (๑๐) การต่ออายุด้วยการรู้จักประมาณในการบริโภค
นอกจากนั้น พระพุทธศาสนายังได้เสนอแนวทางในการต่ออายุด้วยการสะเดาะเคราะห์ตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ด้วยการให้ชีวิตแก่ผู้อื่น หรือการรักษาศีล และการเจริญภาวนา สำหรับการสะเดาะเคราะห์กับการต่ออายุในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีความสัมพันธ์เพราะหากมนุษย์ทำการสะเดาะเคราะห์เท่ากับเป็นการต่ออายุ
สังคมไทยได้รับอิทธิพลความเชื่อในเรื่องของการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุมาจากแหล่งความเชื่อจากความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ และความเชื่อในพระพุทธศาสนา ที่สุดก็ผสมผสานเป็นความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งในแต่ละภาคของประเทศแม้ว่าจะเชื่อเรื่องสะเดาะเคราะห์เหมือนกันแต่วิธีการดำเนินการสะเดาะเคราะห์กลับมีความแตกต่างกันมาก
สำหรับพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์ พบว่าในจังหวัดร้อยเอ็ดโดยเฉพาะอำเภอเชียงขวัญ ประชาชนเป็นชาวลาวมีความเชื่อในเรื่องการสะเดาะเคราะห์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อท้องถิ่น คติทางศาสนาพราหมณ์และอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ส่วนจังหวัดสุรินทร์มีการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุอย่างแพร่หลายทั้งชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร และลาวโดยแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ก็มีพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุแตกต่างกัน
จากการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์พบว่า การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุมีพัฒนาการมาจากความเชื่อดั้งเดิมคือความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และในระยะต่อมาก็พัฒนามาจากความเชื่อของพระพุทธศาสนา กล่าวเฉพาะในปัจจุบันในจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่า การสะเดาะเคราะห์ผู้ที่ประกอบพิธีกรรมมีทั้งพระและฆราวาส ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการสะเดาะเคราะห์ ส่วนในจังหวัดสุรินทร์พบว่าชาวบ้านเห็นว่าพระเป็นผู้มีความรู้และมีศีลกว่าจะนิยมที่จะเข้าหาพระภิกษุเพื่อประกอบพิธีกรรมมากกว่าการเข้าหาฆราวาส และในปัจจุบันชาวจังหวัดสุรินทร์นิยมเข้าร่วมพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุกับพระภิกษุมากกว่า นอกจากนั้น ในการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์แม้ว่ารูปแบบจะแตกต่างกันแต่ก็การประกอบพิธีกรรมจะมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่หลายประการ เช่น กรรม กตัญญูกตเวที ความไม่ประมาท ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการประกอบพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์มีคุณค่าหลายประการได้แก่ คุณค่าต่อตนเอง คือผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเมื่อผ่านพิธีกรรมนี้แล้วย่อมได้รับความสุขและความสบายใจ จากการได้ให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา และคุณค่าต่อสังคม คือ การทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน เป็นต้น
ดาวน์โหลด
|