บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องภพในคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีที่จะใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องภพในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องภพในรูปแบบต่างๆ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นรอง มี คัมภีร์อรรถกถา เป็นต้น เพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับคำสอนสำคัญเรื่องอนัตตาในพระพุทธศาสนา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องภพในพระพุทธศาสนาตามแนวทางที่สามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมในยุคปัจจุบัน
ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ พบว่า แนวคิดเรื่องภพปรากฏชัดเจนในคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กรรม หรือ การกระทำทางกาย วาจา และใจของสัตว์ทั้งหลายนำไปสู่การเกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งจำแนกรายละเอียดออกเป็น ๓๑ ภพ แต่กรรมและการเวียนว่ายในภพทั้ง ๓ นี้เป็นสภาพที่อยู่ในกระแสกระบวนการเชิงเหตุปัจจัยที่สามารถมีได้ตามเหตุปัจจัยและดับได้เมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “อัตตา” หรือ วิญญาณอมตะ
ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ พบว่า แนวคิดคำสอนเรื่องภพได้รับการพัฒนาในคัมภีร์ชั้นรองต่างๆ โดยพระสาวกยุคหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีการตีความคำสอนเรื่องภพในหลากหลายแนวทาง โดยเฉพาะ การนำคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทไปใช้ในการตีความคำสอนเรื่องภพทำให้เกิดรูปแบบกระแสหลักที่เกิดการตีความคำสอนเรื่องภพ ๒ รูปแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน คือ ๑) การตีความแบบข้ามภพข้ามชาติ และ ๒) การตีความแบบขณะจิตปัจจุบัน เมื่อนำรูปแบบการตีความดังกล่าวมาพิจารณาในรายละเอียดทำให้เห็นว่า การตีความคำสอนเรื่องภพแบบข้ามภพข้ามชาติมีแนวโน้มที่อาจจะขัดแย้งต่อคำสอนเรื่องอนัตตา และการชี้ความสำคัญของชีวิตหลังความตายก่อให้เกิดการละเลยชีวิตในปัจจุบันซึ่งได้รับการเน้นย้ำจากพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมและนำไปสู่ปัญหาในการทำความเข้าใจความเชื่อเรื่องกรรม เป็นต้น
ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ พบว่า แนวคิดคำสอนเรื่องภพที่เน้นคุณค่าและความสำคัญของชีวิตในปัจจุบันสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมในยุคปัจจุบัน
ดาวน์โหลด
|