บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อแปลคัมภีร์สารัตถสมุจจย
จตุภาณวารจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์เนื้อหา ภาษา และความสัมพันธ์ของคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและอิทธิพลของคัมภีร์
สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถาในสังคมไทย
ผลการวิจัยพบว่า การแปลคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา ผู้วิจัยได้ดำเนิน
การแปลเป็นภาษาไทยโดยการเทียบเคียงกับอรรถกถาภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และคัมภีร์จตุภาณวาร ฉบับแปลเป็นภาษาไทยสำนวนเทศนาโวหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลปัจจุบันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดพิมพ์ในงาน
พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถระ)
โครงสร้างของคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา พระอโนมทัสสี พระเถระชาว
ศรีลังการจนาขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๖๐๐ เพื่ออธิบายพระปริตรภาณวาร ที่ชาวศรีลังกาใช้สำหรับสวดสาธยาย จำนวน ๒๙ บทมี มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียเมตตสูตร มหาสมยสูตรเป็นต้น จัดเป็น ๔ ภาณวาร เรียกว่า จตุภาณวาร แต่ละภาณวารมีจำนวน ๘,๐๐๐ พยางค์
ลักษณะการเรียบเรียงคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา มีลักษณะการเรียบเรียงแบบร้อยแก้ว ความเรียงที่สละสลวยไพเราะ และมีความหมายชัดเจน แบ่งออกเป็น ๔ ภาณวาร คือ
(๑) ปฐมภาณวาร มีติสรณคมนพรรณนา ทสสิกขาปทพรรณนา และมงคลสูตรเป็นต้น (๒) ทุติยภาณวาร มีมหากัสสปโพชฌงคสูตรพรรณนา และมหาโมคคัลลานโพชฌงคสูตรพรรณนาเป็นต้น (๓) ตติยภาณวาร มีคิริมานันทสูตรพรรณนาและอิสิคิลิสูตรพรรณนาเป็นต้น (๔) จตุตถภาณวารมีอาฏานาฏิยสูตรพรรณนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรพรรณนา และมหาสมยสูตรเป็นต้น
การวิเคราะห์การใช้หลักภาษาในคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา เช่น วิธีการใช้นามศัพท์ วิธีการใช้กิริยาศัพท์ วิธีการใช้อัพยยศัพท์ วิธีการใช้ภาษิตและสำนวนโวหาร วิธีการวิเคราะห์ศัพท์ และการวิเคราะห์ความหมายเชิงอุปมา-อุปไมย และวิธีใช้ฉันทลักษณ์ คัมภีร์
สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถานี้ เป็นสำนวนแต่งขยายเนื้อความ แสดงให้เห็นความหมายของศัพท์องค์ประกอบที่สำคัญของประโยค
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์คัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถากับคัมภีร์อื่นๆ แบ่งออกเป็น ๕ ส่วนคือ (๑) ความสัมพันธ์กับพระวินัยปิฎก (๒) ความสัมพันธ์กับพระสุตตันตปิฏก
(๓) ความสัมพันธ์กับพระอภิธรรมปิฎก (๔) ความสัมพันธ์กับอรรถกถา และ (๕) ความสัมพันธ์กับปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค
การวิเคราะห์คุณค่าในด้านอธิบายหลักธรรม ในคัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถารวบรวมหลักธรรม และองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนามาประมวลไว้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพระไตรปิฎก อรรถกถา วิเคราะห์คุณค่าในด้านรักษาและเผยแผ่พุทธศาสนา คัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา ทำให้เข้าใจเนื้อหาของพระปริตรที่ใช้สวดในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศศรีลังกา และประเทศไทย การสวดพระปริตรอันเป็นหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาจึงเป็นการรักษาให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งยังเป็นการเผยแผ่หลักธรรม ในด้านการป้องกันภยันตราย การสวดพระปริตรหรือการสวดมนต์เป็นการอบรมจิตด้วยการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธคุณ
พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ พร้อมทั้งแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ อิทธิพลของการสวดพระปริตรมีอิทธิพลทั้งในด้านพิธีกรรม และประเพณีต่อสังคมไทย การสวดพระปริตรในพิธีกรรมสำคัญๆ เป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม ธำรงรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ คัมภีร์สารัตถสมุจจยจตุภาณวารอรรถกถา ช่วยสนับสนุนให้ทราบถึงความหมายบทสวดที่เกี่ยวกับการเจริญพระพุทธมนต์ได้ศึกษาเรียนรู้แล้วเผยแผ่ ความจริงนี้เป็นการพัฒนาจิตเจริญปัญญาทั้งในส่วนการศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป
ดาวน์โหลด
|