หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีวงเพชร คงจันทร์
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๘ ครั้ง
รูปแบบการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทยเชิงพุทธบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีวงเพชร คงจันทร์ ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด  พัฒนาการและหลักการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวตามแนวพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษารูปแบบ  ตัวชี้วัด  และกระบวนการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวในสังคมไทย (๓) เพื่อเสนอรูปแบบการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทยเชิงพุทธบูรณาการ ผลการวิจัยพบว่า 

             หลักการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวตามแนวพระพุทธศาสนามี ๒ หลักการ คือ (๑) หลักการปฏิบัติตนตามแนวอริยมรรคมีองค์ ๘  ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ  (๒) หลักการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันภายในมีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และภูมิคุ้มกันภายนอก คือ การปฏิบัติตามหลักทิศ ๖  ผลที่ได้รับจากหลักการดังกล่าวมานี้มี ๓ อย่างคือ (๑) ได้รับประโยชน์ในโลกนี้ คือ ก่อเกิดความเสมอภาคทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางการศึกษา  ก่อเกิดความปรองดองในครอบครัว และความผาสุกในการครองเรือน  (๒) ได้รับประโยชน์โลกหน้า (๓) ได้รับประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน

             รูปแบบการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวสังคมไทยมี ๓ รูปแบบ คือ (๑) รูปแบบภายในครอบครัว (๒) รูปแบบชุมชนและสังคม (๓) รูปแบบนโยบายของรัฐบาล  โดยมีองค์ประกอบของตัวชี้วัดมี ๔ องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ ๑ สัมพันธภาพในครอบครัวมี ๕ ตัวชี้วัด องค์ประกอบที่ ๒ มี ๖ ตัวชี้วัด องค์ประกอบที่ ๓ ความมั่นคงของครอบครัวในสังคมไทย มี ๖ ตัวชี้วัด องค์ประกอบที่ ๔ ความเสมอภาคในครอบครัวมี ๓ ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดแต่ละตัวได้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับกรณีศึกษาครอบครัวตัวอย่าง  และในปัจจุบันมีกระบวนการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทย อยู่ด้วยกัน ๕ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ เปลี่ยนความคิดมี ๘ วิธี ขั้นตอนที่ ๒ สร้างการเรียนรู้มี ๔ วิธี ขั้นตอนที่ ๓ พัฒนากลไกมี ๓ ขั้นตอนที่ ๔ สร้างการมีส่วนร่วมมี ๓ วิธี ขั้นตอนที่ ๕ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสตรีมี ๒ วิธี ขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดนี้ถูกขับเคลื่อนโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

             การเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวเชิงพุทธบูรณาการ มีอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ประกอบ คือ (๑) ภายในครอบครัว มี ๕ วิธี ได้แก่ (ก) เลือกคู่ครองที่เหมาะสม (ข) มีความหนักแน่นมั่นคง (ค) ศึกษาหลักการที่ดีให้กับครอบครัว (ง) มีศีลเป็นพื้นฐานในการดูแลครอบครัว และ(จ) ให้ความเคารพและเลี้ยงดูบิดามารดา (๓) ภายในชุมชนหรือสังคม มี ๓ วิธี ได้แก่  (ก) การเลือกผู้นำชุมชน (ข)  การเคารพกติกาชุมชนหรือสังคม  (ค) การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกิจกรรมของชุมชนหรือสังคม  (๓) นโยบายของรัฐ มี ๓ วิธี ได้แก่ (ก) มีมาตรการทางกฎหมายกรณีบุตรหลานทอดทิ้งบิดามารดาหรือผู้สูงวัย (ข) มีมาตรการทางกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และปฏิบัติธรรมทุกวันพระ (ค) มีมาตรการทางกฎหมายส่งเสริมให้วันพระและวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ    ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวมานี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อรูปแบบการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพุทธบูรณาการ  เพราะสอดคล้องกับกรณีตัวอย่างครอบครัวทั้งในคัมภีร์พระพุทธศาสนา สังคมไทย  และองค์ประกอบของตัวชี้วัดทุกตัว ตลอดถึงกระบวนการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทยปัจจุบันได้อย่างดี

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕