หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เดชา บุญมาสุข
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
ชื่อผู้วิจัย : เดชา บุญมาสุข ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง การบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน             ซึ่งเน้นการวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) โดยตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และ            (๓) เพื่อเสนอแนวทางการบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ผลการศึกษาวิจัย พบว่า นิยามสำคัญของคำว่า คุณภาพชีวิต คือ ลักษณะความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลที่ประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานที่พอเพียงและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข           ตามอัตภาพของแต่ละบุคคลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจากผลสรุปการศึกษาข้อมูลและ            การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกกลุ่มเป้าหมายตามงานวิจัย  จำนวน ๑๖ คน ใน ๔ ด้าน คือ                 ด้านพุทธศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านศึกษาศาสตร์ และด้านสาธารณสุขศาสตร์ โดยมีประเด็น          ในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน มุมมองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต มุมมองเกี่ยวกับการนำหลักธรรมมาแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต และมุมมองเกี่ยวกับกับแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พบว่า สภาพปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยในภาพรวมสามารถสรุปได้เป็น ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) ปัญหาในการปรับทัศนคติและปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบ (๒) ปัญหาในการสร้างโอกาสการมีรายได้ที่เพียงพอและชีวิตที่ดีขึ้น และ (๓) ปัญหาในการดูแลสุขภาพกายและใจ สำหรับหลักพุทธธรรมที่มีความเหมาะสมเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในปัจจุบันมากที่สุด มี ๓ หลักธรรม คือ (๑) หลักโยนิโสมนสิการเพื่อใช้ปรับทัศนคติและส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบ  (๒) หลักไตรสิกขา เพื่อใช้บูรณาการร่วมกับการศึกษาในการสร้างโอกาสการมีรายได้ที่เพียงพอและชีวิตที่ดีขึ้น และ  (๓) หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อใช้บูรณาการร่วมกับ          การดูแลสุขภาพองค์รวมในการดูแลสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์แข็งแรง

     

 

โดยสรุปแล้ว แนวทางการบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน         ต้องประกอบไปด้วย  (๑) ใช้หลักโยนิโสมนสิการปรับวิธีคิดและมุมมองในการกำหนดรูปแบบพฤติกรรมที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหารวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ (๒) ใช้หลักไตรสิกขาเข้ามากำกับและดูแลทุกพฤติกรรมเป้าหมายควบคู่กับการใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ผลในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕