บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพชุมชนเข้มแข็งในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ๒. เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและหลักพุทธธรรมเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ๓. เพื่อศึกษากลยุทธ์การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยวิธีการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ ผลการวิจัย พบว่า ความเข้มแข็งของชุมชน มีพื้นฐานของความมีจิตสำนึกที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนด้วยความสามัคคี ชุมชนสามารถที่จะวิเคราะห์ปัญหา และตัดสินทางเลือกนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้สำเร็จพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความสามารถที่พึ่งตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้นั้น ต้องพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic) โดยพัฒนาคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาองค์กรต้องกระทำโดยคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ทีมีความรู้สึก มีปัญหา มีความต้องการในการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งมีความรัก ความเอื้ออาทร จริงใจต่อกันภายใต้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และความต้องการที่แท้จริงของชุมชน การเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้มาเชื่อมโยงจิตใจนำพาคนในชุมชนให้เกิดความรัก และความสามัคคีในชุมชน สำหรับชุมชน ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น นับว่ามีความเข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง คนในชุมชนมีความรักสามัคคีในการอนุรักษ์ตลาดร้อยปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมีพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมของความศรัทธา ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน กิจการต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้คนในชุมชน เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาจิตใจของคนในชุมชนให้เข้มแข็ง และได้พัฒนาต้นกล้า หรือเยาวชนของชุมชนเป็นคนดีศรีสุพรรณ ซึ่งนับว่าพระสงฆ์นอกจะส่งเสริมความเข้มแข็งของคนในชุมชนแล้วยังได้บ่มเพาะปูพื้นฐานให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ สามารถสืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชนให้เข้มแข็งสืบต่อไป
ดาวน์โหลด