บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษากุศลกรรมเพื่อให้เกิดความงามตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกุศลกรรมกับความงาม และ (๓) เพื่อเสนอแนวทางการสร้างกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความงามตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า กุศลกรรม คือการทำกรรมดี เป็นการกระทำที่สร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม เรียกอีกอย่างว่า บุญ และผลของบุญคือความสุข ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ กล่าวถึงหลักแห่งการบำเพ็ญบุญ เป็น ๓ หัวข้อหลักคือ ทานมัย สีลมัย และภาวนามัย ดังนั้นการทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา คือการสร้างกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความงาม เพราะความงามมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการสร้างกุศลกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากเราต้องการความงามให้ปรากฎแก่ กาย วาจา และใจจะต้องมุ่งสร้างกุศลกรรมให้มากๆ กุศลกรรม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำทาน และการรักษาศีล การกระทำทั้ง ๒ อย่างนี้ จะให้ผลปรากฏที่ เด่นชัด ผู้ที่ได้ทำกุศลกรรมดี จะมีความสุขใจ อิ่มเอิบในผลบุญที่ตนได้รับเกิดเป็นความงามทางกาย และทางวาจา ลักษณะความงามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ความงามภายนอก และความงามภายใน ดังเช่นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า เป็นลักษณะความงามภายนอกทางร่างกายที่สมบูรณ์แบบที่สุด ส่วนความงามภายใน เป็นความงามที่เกิดจากการประพฤติตนให้อยู่ในทางศีล ทางธรรม เป็นความงามที่ยั่งยืน เป็นความงามที่ทุกคนสามารถสร้างได้ และทำให้มีแก่ตนได้ ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลหลายท่านที่ได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความงาม เช่น พระนางผุสดี พระนางมัลลิกาเทวี นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น และผลของกุศลกรรมในวิมานวัตถุ เช่น อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม รักษาอุโบสถศีล ศีล ๕ และการถวายทานแด่พระอริยสงฆ์ เป็นเหตุให้มีมาลัยดอกมณฑารพประดับหลากสี และมีบริวาร อานิสงส์ของการกราบไหว้สมณะ เป็นเหตุให้ตนมีผิวพรรณงาม อย่างนี้เป็นต้น
แนวทางการสร้างกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความงามตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือการทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา โดยเริ่มจากการคิดดี พูดดี และทำดี พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “ทุกอย่างเกิดจากกรรม”ซึ่งกรรมจะสัมพันธ์กันจากใน อดีต และ ปัจจุบัน ดังนั้นกุศลกรรมกับความงามจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกัน กุศลกรรมทุกอย่างทำให้คนงามได้ โดยเริ่มต้นจากการรักษาใจให้มั่นคง
ดาวน์โหลด
|