บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณคดี ๒) ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องระบบนิเวศตามหลักนิยาม ๕ ในพระพุทธศาสนา ๓) เพื่อวิจารณ์วรรณคดีเชิงพุทธนิเวศ
จากการวิจัยพบว่า การวิจารณ์วรรณคดีเชิงพุทธนิเวศเป็นการวิจารณ์วรรณคดีที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยใช้แนวคิดเรื่องนิยาม ๕ ในพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการวิจารณ์ ผลของการวิจารณ์พบว่าวรรณคดีทั้ง ๑๑ เรื่องที่นำมาวิจารณ์มีนัยสำคัญทางนิเวศที่เป็นไปตามหลักนิยาม ๕ และเป็นไปอย่างผสมผสานกันทั้ง ๕ นิยาม โดยวรรณคดีที่แสดงนัยสำคัญเกี่ยวกับอุตุนิยามอย่างชัดเจนคือเรื่อง “โคลงทวาทศมาส” เนื่องจากมีการใช้องค์ประกอบของระบบนิเวศในส่วนที่ไม่มีชีวิต เช่น ภูมิอากาศและฤดูกาลเป็นโครงเรื่องในการประพันธ์ ส่วนวรรณคดีที่แสดงนัยสำคัญเกี่ยวกับพีชนิยามอย่างชัดเจนคือเรื่อง “กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง” เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต วรรณคดีที่แสดงนัยสำคัญเกี่ยวกับจิตตนิยามอย่างชัดเจนคือเรื่อง “กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง” เนื่องจากได้สะท้อนให้เห็นถึงกุศลจิตของคนในยุคนั้นรวมทั้งกวีผู้ทรงพระนิพนธ์ว่าทรงเข้าใจในธรรมชาติ ส่วนวรรณคดีเรื่อง “พระจันกินรีคำฉันท์”แสดงให้เห็นถึงอกุศลจิตของท้าวพรหมทัตที่ยังผลให้เกิดการทำร้ายชีวิตที่อยู่ในระบบนิเวศของป่าหิมพานต์ วรรณคดีที่แสดงนัยสำคัญเกี่ยวกับกรรมนิยามอย่างชัดเจนคือเรื่อง “ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง” ทั้งนี้เพราะได้สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำโดยเจตนาของมนุษย์และผลที่ได้รับจากการกระทำนั้น นั่นคือสัตว์ป่าบางชนิดได้ สูญพันธุ์ไป และป่าไม้ถูกทำลายรวมทั้งความสมดุลของระบบนิเวศลดลง ส่วนวรรณคดีที่แสดงนัยสำคัญเกี่ยวกับธรรมนิยามอย่างชัดเจนคือเรื่อง “ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง” ทั้งนี้เพราะเนื้อหาทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญทางนิเวศอันเป็นเหตุผลแก่กันที่เป็นไปอย่างผสมผสานกันทั้ง ๕ นิยาม
ดาวน์โหลด
|