บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “การสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติเชิงพุทธบูรณาการ” นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี การสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติ (๒) เพื่อศึกษาการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติเชิงพุทธ (๓) เพื่อนำเสนอการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติเชิงพุทธบูรณาการ โดยการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ จากการวิจัยพบว่า
การสื่อสารทางการเมืองเป็นกระบวนการสื่อสารที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือขยายความขัดแย้งความรุนแรงทางการเมือง โดยใช้การสื่อสารเพื่อสร้างความแตกแยกทุกมิติในสังคมไทยในความเห็นต่างทางอุดมการณ์ ความเชื่อ และทัศนคติ โดยมีตัวแปรสำคัญเบื้องหลังความขัดแย้งคือ วัจนภาษาและอวัจนภาษาแสดงออกด้วยถ้อยคำและพฤติกรรมเพื่อสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคมด้วยกัน จนบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตของความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ทั้งตัวปัจเจกบุคคลและสังคม ในขณะที่สังคมไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สำคัญของชาติ ประชาชนต่างให้ความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา การนำหลักธรรมคำสอนมาเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดสันติในประเทศชาตินั่นก็คือ แนวทางแห่งสันติ
หลักการและวิธีการ การสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติเชิงพุทธบูรณาการคือ การปรับกระบวนทัศน์ผ่านกระบวนการสื่อสารทางการเมืองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยบูรณาการหลักการและวิธีการในมิติทางศาสตร์ตะวันตกและศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาจนได้องค์ความรู้ตามแนวทางแห่งสันติ ดังที่ผู้วิจัยได้รูปแบบการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสันติเชิงพุทธบูรณาการเพื่อนำมาใช้กับสถานการณ์การสื่อสารทางการเมืองในปัจจุบัน โดยผู้ส่งสารและรับสาร มีความรู้ ตื่น และเบิกบานเพื่อเสริมสร้าง “ปัญญา” ปรับความเข้าใจด้วยการพิจารณาใคร่ครวญในการแก้ไขปัญหาและ ปรับทัศนคติความคิดเห็นในทางที่ถูกต้อง โดยไม่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตน ความพยาบาท และคิดทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น จากนั้นจึงมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ใน “ศีล” เพื่อการสื่อสารทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชังแก่กัน วางท่าทีอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ สื่อมวลชนต้องยึดระเบียบปฏิบัติจรรยาบรรณในวิชาชีพ สุดท้ายเตรียมด้านจิตใจสู่ “สมาธิ” ขั้นสูง ในการเพียรพยายามฝึกจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป เลือกทำสิ่งที่ดีงามถูกต้องเพื่อคนส่วนรวมและประเทศชาติ อีกทั้งประชาชนในสังคมต้องมีความตื่นรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน และรับฟังข่าวสารอย่างมีสติ ขันติ และสันติ ตาม “สันติวิถี” โดยใช้วิจารณญาณในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติร่วมกันนั้น ก็คือ การปฏิบัติตามสันติวิถี “ปัญญา ศีล และสมาธิ” เพื่อมุ่งสร้างความสงบสันติภายใน จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงก็จะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นความรัก ความสามัคคี ต่างฝ่ายต่างร่วมคืนความสงบสุขแก่ประเทศไทยตามแนวทาง “สันติวิถีแห่งการรับสารด้วยการรู้ ตื่น และเบิกบาน” การสื่อสารทางการเมืองจึงเป็นการสื่อสารเพื่อสันติโดยแท้จริง
ดาวน์โหลด
|