บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องพฤติกรรมของสตรีในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการปรับพฤติกรรมของสตรีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสังคมไทยยุคปัจจุบัน และ ๓) เพื่อนำเสนอการปรับพฤติกรรมของสตรีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสังคมไทยยุคปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Method Research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ผลการวิจัยพบว่า สตรีแต่ละคนมีผลกรรมที่เกิดจากความดี หรือความชั่วที่เคยทำไว้แตกต่างกัน ดังนั้นสตรีมีความประพฤติที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ความคิด อารมณ์นั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พฤติกรรมของสตรีในพระพุทธศาสนา มี ๒ แบบ คือ ๑) พฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ เช่น การรักษาศีล ๕ การทำทาน และการปฏิบัติธรรม ๒) พฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ของสตรี มีเฉพาะสตรีบางคน เช่น การใช้ปัจจัย ๔ อย่างฟุ่มเฟือย การใช้คำพูดไม่ดี ความริษยาและความโกรธ เป็นต้น นอกจากนี้จริตก็มีผลต่อพฤติกรรมด้วย จริตสามารถนำมาพิจารณาและใช้เลือกเฟ้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบรรลุธรรมที่รวดเร็ว ด้วยวิธีปฏิบัติกรรมฐานที่เหมาะกับจริตนั้นๆ การปรับพฤติกรรมของสตรีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสังคมไทยยุคปัจจุบัน พบว่า วิธีการปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่สอดคล้องกับงานวิจัยนี้ ๔ ด้าน พบว่าสตรีที่มีความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ แล้ว สามารถนำความรู้และความเข้าใจนั้นมาเป็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ที่ใช้ได้ในชีวิตจริง โดยการมีสติระลึกรู้ได้ทันปัจจุบันในทุกๆ ขณะที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือในการทำหน้าที่การงานก็ปฏิบัติธรรมไปด้วย เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากระทบใจ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญสามารถฝึกใจให้รู้เท่าทันไม่หลงหรือไม่คล้อยตามอารมณ์ในเรื่องนั้นๆ และสามารถลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในด้านกาย วาจา ความคิด และอารมณ์สอดคล้องกับสตรีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พบว่า ๑) ด้านกาย ๒) ด้านวาจา ๓) ด้านความคิด ๔) ด้านอารมณ์ มีคะแนนเฉลี่ยที่แสดงระดับพฤติกรรมก่อนการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง และหลังการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ (t-dependent) แล้วพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ นำเสนอการปรับพฤติกรรมของสตรีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสังคมไทยยุคปัจจุบันพบว่า การปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของสตรีในพระพุทธศาสนาใช้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยสตรีต้องมีการตระหนักรู้และเข้าใจภายในของตัวเอง ด้วยหลักและวิธีการปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะที่จดจ่อต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีอารมณ์อยู่กับปัจจุบัน และสตรีต้องมีการมอบกายถวายชีวิตเพื่อการปฏิบัติจริงๆ และมีการปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอนหลับในแต่ละวัน เช่น กำหนดสติในทุกอิริยาบถ ในทวารทั้ง ๖ การลดนิวรณ์ ๕ และต้องมีครูอาจารย์แนะนำ การปรับพฤติกรรมมี ๓ ขั้นตอน คือ ๑) ขั้นการรับรู้ ได้แก่ การคบสัตบุรุษ การฟังสัทธรรม และศรัทธา ๒) ขั้นการคิดตริตรอง ได้แก่ โยนิโสมนสิการ ๓) ขั้นการปฏิบัติ ได้แก่ สติสัมปชัญญะ อินทรีย์สังวร สุจริต ๓ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ วิชชาและวิมุตติ
ดาวน์โหลด