บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดความเป็นพลเมืองดี ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดความเป็นพลเมืองดีตามหลักพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาความเป็นพลเมืองดีตามหลักพระพุทธศาสนา การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสาร แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ โดยการสนทนากลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า ความเป็นพลเมืองดี เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นของบุคคลในฐานะพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งสะท้อนถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้กฎหมาย ทั้งยังเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญของคุณลักษณะความเป็นพลเมืองดี ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ๔ ด้านหลัก คือ ๑) ด้านกาย ได้แก่ มีความสามารถในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสื่อสารรับรู้ข่าวสาร ๒) ด้านทักษะทางสังคม ได้แก่ มีความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย และมีความซื่อสัตย์สุจริต ๓) ด้านจิตใจ ได้แก่ มีสำนึกความเป็นไทย มีความยุติธรรม มีจิตสาธารณะ และ ๔) ด้านปัญญา ได้แก่ มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง แก้ปัญหาแบบสันติวิธี และ เคารพความแตกต่าง ส่วนความเป็นพลเมืองดีทางพระพุทธศาสนา พบว่า จะเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงสถานะของการเป็นสมาชิกในสังคมอันมาพร้อมกับสิทธิ หน้าที่ ข้อผูกพัน ที่มีต่อสังคม โดยถือปฏิบัติตามหลักธรรมวินัย และแนวทางการพัฒนาความเป็นพลเมืองดีตามหลักพระพุทธศาสนา พบว่า ระบบการพัฒนาตนของพลเมืองแบบบูรณาการและมีดุลยภาพตามหลักภาวนา ๔ ที่มีไตรสิกขาเป็นแกนกลาง สามารถพัฒนาบุคคลอย่างเป็นองค์รวม และครอบคลุมองค์ประกอบการดำเนินชีวิตของพลเมืองทุกด้าน คือ กาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ทั้งยังสามารถผสมผสานระหว่างแนวคิดแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคได้อย่างมีความรับผิดชอบ มองโลกแบบผู้รักสันติภาพ โดยไม่มีความขัดแย้ง รู้จักรับและปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
ดาวน์โหลด
|