บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ๒) เพื่อศึกษาพุทธบูรณาการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ และ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบพุทธบูรณาการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔
การวิจัยเป็นแบบผสานวิธี โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๘ รูป/คน โดยการเลือกแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเอกสาร การสัมภาษณ์ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา นำเสนอข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนา เพื่อจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาแล้วนำมาสังเคราะห์เชิงระบบและนำไปเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามแบบมีโครงสร้าง เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ครูสอน และเจ้าหน้าที่/พนักงาน โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ จำนวน ๑๙๗ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปวิเคราะห์เชิงพรรณนา ตีความหมาย และการสังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และผสมผสานวิธีด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัย พบว่า
๑) สภาพปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ พบว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ส่วนใหญ่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กล่าวคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในระดับที่ขาดคุณภาพและมีวิธีดำเนินการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในระดับต่ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นในการบริหารงานโรงเรียน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจและประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลที่สำรวจจากประชากร กลุ่มตัวอย่าง ก็ปรากฏผลในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ ในภาพรวม มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๒.๖๗, S.D. = ๐.๗๖) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน คือ ด้านการอบรม ด้านการฝึกอบรม และด้านการพัฒนา พบว่า มีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลางทุกด้านเช่นเดียวกัน
๒) พุทธบูรณาการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ประกอบไปด้วยทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของ L.Nadler ได้แก่ หลักการศึกษา หลักการฝึกอบรม และหลักการพัฒนา นำมาบูรณาการกับหลักพุทธธรรม ได้แก่ หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และความคิดสติปัญญา ของทรัพยากรมนุษย์ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ให้มีความพร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างดีที่สุด
๓) รูปแบบพุทธบูรณาการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ประกอบไปด้วย ๑) ขั้นการศึกษาบูรณาการกับศีล สมาธิ ปัญญา ผลที่ได้คือ บุคลากรจะมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ถูกวิธี และถูกธรรม ๒) ขั้นการฝึกอบรมบูรณาการกับศีล สมาธิ ปัญญา ผลที่ได้คือ บุคลากรจะได้รับการปรับพฤติกรรม เพิ่มความมั่นใจ และมีความละเอียดรอบคอบที่มากยิ่งขึ้น และ ๓) ขั้นการพัฒนาบูรณาการกับศีล สมาธิ ปัญญา ผลที่ได้คือ บุคลากรจะได้รับการพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาความคิดหรือสติปัญญาในระดับที่สูงยิ่งขึ้น เมื่อทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔ ได้เข้ากระบวนการพัฒนาผ่านรูปแบบพุทธบูรณาการด้วยหลักไตรสิกขาแล้ว ผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียน อจะเป็นผู้ประกอบไปด้วย 3 E’s คือ ๑) Educated เป็นผู้มีการศึกษา กล่าวคือ เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม สมกับการเป็นครูที่สอนพระภิกษุสามเณร ๒) Ethics เป็นผู้มีจริยธรรม กล่าวคือ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม มีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง และ ๓) Effectiveness เป็นผู้มีประสิทธิผล กล่าวคือ เป็นผู้มีความศักยภาพ หรือความสามารถในการทำงาน ในระดับที่สูงยิ่งขึ้น โดยมีกระบวนการศึกษา อบรม และพัฒนา เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๔
ดาวน์โหลด
|