บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพและปัญหาอุปสรรคในการบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก ๒) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ๓) เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัยในการทำงานตามหลักพุทธธรรมที่นำมาใช้ในสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยเชิงปริมาณ จำนวน ๔๐๐ คน โดยใช้สูตรของทาโร ยามาเน่ และกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนเท่ากับ ๕ เปอร์เซ็นต์ เลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในแบบสอบถาม มีระดับความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๓๕ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่
ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก
จากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๒๐ รูป/คน และการสนทนากลุ่ม จำนวน ๑๒ รูป/คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพทั่วไปของการบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก พบว่า ด้านการจัดทำนโยบาย ควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายความปลอดภัย ด้านการจัดองค์กร ควรจัดบุคลากรตามที่กฎหมายกำหนด ด้านการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ ควรมีการจัดทำแผนงานให้ตรงกับความเสี่ยงหรือการดำเนินการที่จำเป็นสำหรับสถานประกอบกิจการ ด้านการประเมินผล ควรจัดทำรูปแบบให้ชัดเจนบางสถานประกอบกิจการควรมีการอบรมให้เป็นไปตามกฎหมายและให้มีการติดตามผลการฝึกอบรม และด้านการดำเนินการปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน ในการประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบ
ในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานให้เกิดความรู้ความเข้าใจในงานมากขึ้น
๒. การบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก พบว่า ด้านการจัดทำนโยบาย โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีการมอบหมายงานตามนโยบายแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง และชัดเจน ด้านการจัดองค์กร โดยรวมอยู่ในระดับมาก
มีการพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานขององค์กรให้มีการลดอุบัติเหตุในการทำงานลง
และมีความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอสูง ด้านการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีการกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไว้ และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดสูงสุด ด้านการประเมินผล โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง บุคลากรในหน่วยงานมีการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแผนงาน และบุคลากรด้านความปลอดภัยมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงสูงสุด ด้านการปรับปรุงผลการดำเนินงาน โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีการให้ความสำคัญกับกำหนดเวลาและมีการปฏิบัติตรงต่อเวลาที่กำหนดตามแผนงานเสมอ โดยการนำหลักสัปปุริสธรรม ๗ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารความปลอดภัยในการทำงาน ประกอบด้วย ๑) ธัมมัญญุตา รู้จักรับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายของผู้บริหาร การฝึกอบรมถูกต้องเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ๒) อัตถัญญุ รู้ถึงประโยชน์ขององค์กรที่นำไปสู่ความสำเร็จ มีการวางแผนที่ดี การวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่างๆ ต่อองค์กรและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ๓) อัตตัญญุตา รู้จัก จุดด้อย
จุดแข็งและขีดความสามารถขององค์กร ตลอดจนรู้จักปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและตรงตามเป้าหมายขององค์กร ๔) มัตตัญญุตา รู้จักกระทำในภารกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบรู้และมีภูมิคุ้มกัน ๕) กาลัญญุตา รู้จักคิด รู้จักพูดที่เหมาะสมกับในโอกาสต่างๆ และมีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจน ๖) ปริสัญญุตา เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา รู้จักชุมชน และ ๗) ปุคคลัญญุตา รู้ตนเอง รู้เป้าหมายขององค์กร รู้ในความสามารถของบุคคล และมอบหมายงานที่เหมาะสม
๓. ยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก ประกอบด้วย ๑. วิสัยทัศน์ : การบริหารความปลอดภัยในการทำงานตามหลักพุทธธรรม สร้างคนและสังคมให้มีคุณธรรมและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ๒. พันธกิจ ประกอบด้วย ๑) กำหนดและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย ๒) กำกับ ควบคุม ดูแลความปลอดภัย
๓) ส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัย ๔) พัฒนาระบบบริหารการจัดการด้านความปลอดภัย ๓. เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ๑) เพื่อให้ผู้บริหารในระบบมีการจัดองค์กร การวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ ๒) เพื่อให้ผู้รับผิดชอบในระบบมีการวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ ๓) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบมีการบริหารงานด้วยหลักการจัดทำนโยบาย การจัดองค์กร
การวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติ การประเมินผลและการปรับปรุงผลการดำเนินงาน โดยมียุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัยในการทำงานตามหลักพุทธธรรมของสถานประกอบกิจการในเขตสามจังหวัดภาคตะวันตก ๕ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การเสริมสร้างคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาความรู้ความปลอดภัยในการทำงาน ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาระบบสารสนเทศความปลอดภัยในการทำงาน และ ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมการบริหารความปลอดภัยในการทำงาน โดยการประยุกต์หลักสัปปุริสธรรม ๗ ในการบริหารความปลอดภัยในการทำงานเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานความปลอดภัยในการทำงาน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่มีจิตใจและเป็นภายในตัวตนของผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีอยู่เป็นพื้นฐาน และมีการพัฒนาปรับปรุงด้านจิตใจโดยมีการจัดทำโครงการ กิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์
และปัจจัยแห่งความสำเร็จการบริหารตามยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
ดาวน์โหลด
|