หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการกรีฑา จนฺทวํโส (ศรีใส)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๕ ครั้ง
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการกรีฑา จนฺทวํโส (ศรีใส) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พิเชฐ ทั่งโต
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

   

               การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑)  เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช  ๒)  เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา  ๓)  เพื่อนำเสนอการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช 

               ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research)ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๒๕ รูป/คน เพื่อหาการพัฒนารูปแบบเบื้องต้นก่อนนำเสนอต่อการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussion) ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้นำไปสู่การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ที่ใช้การศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (survey Research)  จากกลุ่มตัวอย่าง ๓๘๑ รูป/คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionare) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเอกสาร การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอรรถาธิบายและพรรณนาความ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

               ผลการวิจัยพบว่า

               ๑. สภาพและปัญหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ๑ ด้านการจัดการเรียนการสอน คือ จำนวนครูพระสอนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ๒ ด้านการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้  คือ สื่อการเรียนการสอนไม่มีความน่าสนใจ  สื่อการเรียนการสอนไม่ทันสมัย ทำให้ง่วงนอนน่าเบื่อ ๓ ด้านบรรยากาศการเรียนรู้  คือ โรงเรียนมีอาคารสถานที่ใช้ในการเรียนการสอนไม่เพียงพอต่อบรรยากาศการเรียนรู้ ขาดห้องประชุม ห้องโสต ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องพยาบาล จัดอยู่ในปูชนียสถานเอกเทศต่างหาก ก็ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้มีน้อย ๔ ด้านกิจกรรมการสอน  คือ พระภิกษุจัดกิจกรรมการเรียนสอนไม่เร้าใจทำให้นักเรียนเกิดความน่าเบื่อและง่วงนอนมาก กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เป็นแบบเรียบง่าย ๕ ด้านการวัดและประเมินผล คือ ขาดการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง ไม่มีการประเมินผลการสอนของครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา 

               ๒. แนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา  พบว่า ๑)กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงหลักสูตรพระพุทธศาสนาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๓) โดยมีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายรายวิชาพระพุทธศาสนาเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้เพิ่มวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาเลือกเสรี ในกลุ่มสังคมศึกษา กำหนดให้เรียนสัปดาห์ละ ๒ คาบตลอดภาคเรียนได้ ๑ หน่วยการเรียน และกำหนดให้นักเรียนที่นับถือพระพุทธศาสนาทุกคนต้องเรียน โดยเน้นการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างแท้จริง เช่น ด้านความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา มีเจตคติที่ดีที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา เกิดศรัทธาและสำนึกในความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคม และสามารถปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาเลือกในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา รวม ๘ รายวิชา โดยกลุ่มวิชาสังคมศึกษา เป็นวิชาที่มีความมุ่งหมายในการสร้างพลเมืองของชาติให้มีคุณภาพ สามารถคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้อย่างปกติ วิชาสังคมศึกษาจึงเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับมนุษย์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อผลิตคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา ให้สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ ความรู้สึก หรือค่านิยมที่ดีงามให้แก่คนในสังคม  ได้กำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตรวิชาสังคมระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

               ๓. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ๑. การบริหารบุคคล ผู้บริหารจัดการเรียนการสอนต้องสนับสนุนงบประมาณให้ครูผู้สอนเข้ามาสอนวิชาพระพุทธศาสนามากขึ้น  มีความเหมาะสมต่อจำนวนผู้เรียน   ๒. ด้านการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้  ผู้สอนต้องผลิตสื่อการเรียนการสอนมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ของโรงเรียนซึ่งมีความพร้อม  คณะสงฆ์คัดเลือกผู้สอนที่มีทักษะสูงสามารถจัดทำแผนการสอน  ผลิตสื่อสนับสนุนครูผู้สอนอย่างต่อเนื่องให้การสอนมีความพร้อมสมบูรณ์  ๓. ด้านบรรยากาศการเรียนรู้  ครูผู้สอน  ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดงบประมาณ  แสวงหางบประมาณ จากภายนอกสนับสนุนการสร้างบรรยากาศ  สถานที่ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้  และมีสื่อการสอนที่หน้าอ่าน ๔. ด้านกิจกรรมการสอน  มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และสื่อที่กระตุ้นความสนใจผู้เรียน  ๕. ด้านการวัดผลประเมินผล  ผู้สอนนำองค์ความรู้จากครูผู้สอนมาสนับสนุนในการวัดผลประเมินผล ให้เป็นไปตามหลักสูตรของโรงเรียน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕