การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาอุปสรรคการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม (๒) เพื่อการบูรณาการหลักพุทธธรรมสำหรับการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม (๓) เพื่อนำเสนอการพัฒนารูปแบบการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักเรียนในสำนักเรียนในพื้นที่นครปฐม จำนวน ๓๔๔ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๗๑ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๒๐ รูป ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม สำนักเรียนในพื้นที่นครปฐม แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนาเพื่อหารูปแบบเบื้องต้นก่อนนำเสนอต่อการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussion) เพื่อพัฒนารูปแบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ผลการวิจัยพบว่า
๑) สภาพการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมในปัจจุบันนี้ พระสังฆาธิการได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเพื่อการบูรณาการที่เหมาะสมกับการศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีความสอดคล้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ตลอดจนถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสำนักเรียน เพื่อส่งเสริมการสร้างทรัพยากรบุคคลคือพระภิกษุ สามเณร ผู้เป็นศาสนทายาทสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาในอนาคต นอกจากนั้น ปัญหาอุปสรรคการจัดการเพื่อการบูรณาการที่ไม่เหมาะสมกับการศึกษาพระปริยัติธรรมในปัจจุบันนี้ สาเหตุสำคัญมาจากวิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน พันธกิจไม่เหมาะสม กระบวนการจัดการภายในสำนักเรียนไม่ชัดเจน เป็นต้น
๒) การบูรณาการหลักพุทธธรรมสำหรับการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ตามหลักการจัดการประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์การ การบริหารบุคคล การอำนวยการ และการควบคุมเป็นต้น ตามหลักอิทธิบาท ๔ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
๓) แนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในจังหวัดนครปฐม จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของผู้วิจัย ประกอบด้วย ๕ ด้าน คือ ๓.๑) ด้านการวางแผน ควรมีการประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็ขอมติความเห็นชอบในที่ประชุมสงฆ์ มอบหมายให้ครูอาจารย์ได้มีบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน กำกับดูแลรักษากฎระเบียบแต่งตั้งคณะครูอาจารย์ผู้สอนตามชั้นต่างๆ ๓.๒) ด้านการจัดองค์การ ควรมีการแต่งตั้งครูอาจารย์เจ้าหน้าที่อย่างมีระเบียบโครงสร้างคณะผู้บริหารเป็นไปตามกฎเกณฑ์ การพัฒนาการทำงานกำหนดตำแหน่งหน้าที่การงานแต่ละบุคคล ๓.๓) ด้านบริหารบุคคล ควรมีการสรรหาบุคลากรยึดหลักตามความเหมาะสม กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรทำงานอย่างเหมาะสม การฝึกอบรมพัฒนาความรู้ความสามารถ ๓.๔) ด้านอำนวยการ คณะผู้บริหารสนับสนุนการเรียนการสอน การประสานงานอย่างมีระบบ สนับสนุนทุนทรัพย์เพื่อการเรียนการสอน ปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับการศึกษาช่วยเหลือสังคม และ ๓.๕) ด้านการควบคุม กำหนดการวันเปิดเรียนและวันปิดเรียน โดยพร้อมเพรียงจัดการอบรมนักธรรมก่อนสอบ พิจารณาการส่งรายชื่อนักเรียนอย่างรวดเร็ว
ดาวน์โหลด
|