บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง คัมภีร์วิสุทธิมัคคคัณฐี : การชำระและการศึกษาวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อปริวรรตและตรวจชำระคัมภีร์วิสุทธิมัคคคัณฐี จากต้นฉบับภาษาบาลีอักษรขอม เป็นภาษาบาลีอักษรไทย และแปลเป็นภาษาไทย ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์วิสุทธิมัคคคัณฐี ในด้านประวัติผู้แต่ง สมัยที่แต่ง โครงสร้างเนื้อหา ลักษณะการประพันธ์ สำนวนภาษาและการจารลงใบลาน ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสอดคล้องสัมพันธ์กันในสายคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับพระไตรปิฎก อรรถกถา อันเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในยุคต้น และคัมภีร์อื่น ๆ ของพุทธศาสนาเถรวาท
ผลการวิจัยพบว่า ในการปริวรรตนั้นยังมีส่วนที่บกพร่องบ้างโดยมากเป็นเรื่องอักษรที่มีลักษณะคล้ายกัน หรือออกเสียใกล้เคียงกัน ส่วนเนื้อหาของธรรมที่พระสารทัสสียกมาอธิบายนั้นมักเป็นการอธิบายเสริมคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรคมหาฎีกา คัมภีร์วิสุทธิมัคคจูฬฎีกา หรืออธิบายสรุปให้เห็นเนื้อความส่วนนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการกำหนดจดจำ
ส่วนประวัติผู้แต่งนั้นมักเป็นธรรมเนียมของนักปราชญ์สมัยก่อนที่ไม่ใคร่แสดงชื่อของตนไว้ในงานนั้นด้วย จะแสดงเพียงเหตุผลหรือความจำเป็นในการแต่ง ด้านโครงสร้างเนื้อหา ผู้ประพันธ์ได้ยึดเอาโครงสร้างเนื้อหาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ลักษณะการประพันธ์เป็นการประพันธ์แบบวิมิสสะ คือ การประพันธ์แบบผสมปัชชะ (ร้อยกรอง) กับ คัชชะ (ร้อยแก้ว)เข้าด้วยกัน ใช้สำนวนภาษาแบบง่าย แต่เป็นไปตามแบบแผนของการประพันธ์คือ มีคำปณามคาถา อันเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย พร้อมกับบอกเหตุผลในการประพันธ์แล้วจึงดำเนินเข้าเนื้อหาที่ตนประสงค์จะอธิบาย ในตอนสุดท้ายเป็นการแสดงนิคมคาถา พระสารทัสสีไม่ได้แสดงชื่อของท่านเอาไว้ เป็นแต่กล่าวถึงสังคมสภาพแวดล้อมในยุคนั้นมีความเป็นไปอย่างไร และจบลงด้วยขอให้พระราชาดำรงมั่นในทศพิธราชธรรม ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์ และขอให้ตัวท่านผู้ประพันธ์ได้บรรลุมรรคนิพพานในศาสนาของพระเมตไตรยพุทธเจ้า
ดังนั้น เมื่อได้แปลและตรวจทานเทียบเคียงกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรคฎีกาทั้งสองแล้ว ทำให้เห็นถึงความสอดคล้องกันของการอธิบาย เพราะคัมภีร์วิสุทธิมัคคคัณฐี ได้อธิบายเสริมเพิ่มเติม หรือสรุปคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้ง ๓ ดังที่กล่าวแล้ว ไว้อย่างชัดเจน
ดาวน์โหลด
|