บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารมีจุดประสงค์ ๓ ข้อคือ (๑).เพื่อศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการก้าวข้ามพ้นตัวตนในพระพุทธศาสนาเถรวาทและจิตวิทยาตะวันตก (๒).เพื่อศึกษาพุทธวิธีการก้าวข้ามพ้นตัวตน(๓).เพื่อบูรณาการรูปแบบการพัฒนาการก้าวข้ามพ้นตัวตนตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท
ผลการวิจัย พบว่า แนวคิดเกี่ยวกับการก้าวข้ามพ้นตัวตน ตามแนวพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท คือ สมถะและวิปัสสนาโดยยึดหลักไตรสิกขาเป็นกรอบใหญ่ มีสมถะและวิปัสสนาเป็นภายใน สมถะจัดเป็นศีลและสมาธิ ส่วนวิปัสสนาจัดเป็นปัญญา โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิและปัญญา ในกรอบของหลักธรรม คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งผู้ปฏิบัติ จะต้องนำหลักธรรมที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา คือ แนวทางเรื่องกัลยาณมิตร ปลิโพธ ๑๐อย่าง จริต ๖ และสัปปายะ ส่วนแนวทางปฏิบัติตามหลักโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น สติปัฏฐาน ๔และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีการ ส่วนองค์ธรรมที่เหลือคือ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เป็นองค์ธรรมที่สนับสนุน แนวทางบูรณาการรูปแบบการก้าวข้ามพ้นตัวตนตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท ต้องใช้หลักโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเป็นเสาหลัก ยึดเอาสติปัฏฐาน ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีการปฏิบัติ โดยมีแนวคิดและวิธีการของมาสโลว์ คาร์ล จี จุง สแตนนิสลาฟ โกรฟ ศรี อรโรบินโดและ เคน วิลเบอร์ เป็นส่วนประกอบ อีกทั้งผู้ปฏิบัติมีการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ การเรียนรู้องค์รวม การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยใช้อิทธิบาท ๔และพละ ๕ เป็นแรงขับเคลื่อน สัมมัปปธาน ๔เป็นความเพียรพยายาม อินทรีย์ ๕ เป็นหางเสือปรับทิศทางเพื่อไปสู่จุดหมายบนเส้นทางโพชฌงค์ ๗ เข้าสู่ความสมบูรณ์แห่งชีวิต ตามหลักไตรสิกขา โดยมีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด
ดาวน์โหลด
|