บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสหกรณ์ทั่วไปและความสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาสภาพของการสหกรณ์ในประเทศไทย ๓) เพื่อพัฒนารูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเชิงเอกสารและเชิงสำรวจ ๒ กลุ่มตัวอย่างคือ (๑) กลุ่มสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๕ กับกลุ่มแนวพุทธที่มีการดำเนินกิจกรรมแบบสหกรณ์การเก็บข้อมูลวิจัยใช้การสนทนากลุ่มแล้ววิเคราะห์ SWOT (๒) กลุ่มสหกรณ์ทั่วไป จำนวน ๔๒๙ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเรื่อง “การพัฒนารูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธ” และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยเชิงเอกสารพบว่า แนวคิดเรื่องสหกรณ์มีความสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาตั้งแต่ความหมายการมีส่วนร่วม คือสามัคคีธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ และเรื่องการเสียสละหรือจาคะตามหลักฆราวาสธรรม ๔ เพื่อการแบ่งปัน(สาธารณโภคิตา) ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญเรื่องประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น
ผลการสำรวจสภาพการสหกรณ์ในสังคมไทย มีจุดแข็งคือ ระบบการดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ มีจุดอ่อนคือสมาชิกขาดความรู้ความเข้าใจแนวคิด หลักการ และอุดมการณ์สหกรณ์อย่างแท้จริง มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากส่วนงานราชการ และอุปสรรคจากการแข่งขันสูง
ผลการพัฒนารูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธ โดยบูรณาการหลักธรรมเสริมจุดแข็งด้วยหลักสังคหวัตถุ ๔ และพรหมวิหาร ๔ เพื่อสร้างความสามัคคีเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้กำจัดจุดอ่อนด้วยฆราวาสธรรม ๔ และวิเคราะห์พิจารณาหาโอกาสและป้องกันอุปสรรคด้วยหลักสัปปุริสธรรม ๗ จากข้อมูลสามารถสังเคราะห์เป็นรูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธที่ประกอบด้วย ๑) การนำสหกรณ์ตามแนวพุทธจากการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ ภารกิจและเป้าหมายสหกรณ์ที่สอดคล้องตามหลักพระพุทธศาสนา ๒) การบริหารจัดการสหกรณ์ตามแนวพุทธ ๓) คนสหกรณ์ตามแนวพุทธ การพัฒนารูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธต้องเน้นการพัฒนาคนด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตามกระบวนการพัฒนา ๔ ระดับ เพื่อที่ทำให้คนสหกรณ์มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ และเกิดปัญญา
ดาวน์โหลด
|