หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » บัญชายุทธ นาคมุจลินท์
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
รูปแบบการพัฒนาศาสนทายาทที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : บัญชายุทธ นาคมุจลินท์ ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุธีคัมภีรญาณ
  อำนาจ บัวศิริ
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

               การศึกษาวิจัยเรื่อง รูปแบบการพัฒนาศาสนทายาทที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาศาสนทายาทของเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น ๒. เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการพัฒนาศาสนทายาท ๓. เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนา ศาสนทายาทที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่นๆ เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและศึกษาจากภาคสนามด้วยการสังเกต การสัมภาษณ์บุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น พระสงฆ์ ผู้บริหาร ประชาชน และการร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษตามโอกาสต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงพรรณนา จากนั้นได้สังเคราะห์เป็นรูปแบบการพัฒนาศาสนทายาท

     ผลการวิจัยพบว่า สภาพการพัฒนาศาสนทายาทในเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น เป็นการพัฒนาในลักษณะการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นการศึกษารูปแบบพิเศษ มี ๓ แผนก คือ แผนกธรรม แผนกบาลี และแผนกสามัญศึกษา โดยได้ทำการวิจัยสภาพการจัดการศึกษาแผนกธรรมจากสำนักศาสนศึกษาวัดหนองแวง แผนกบาลีจากสำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น (วัดชัยศรี) และแผนกสามัญศึกษาจากโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา (วัดธาตุ) สำนัก ศาสนศึกษาวัดหนองแวงและโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยามีการจัดการศึกษาแบบบูรณาการทั้ง  ๓ แผนกร่วมกัน ส่วนสำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น (วัดชัยศรี) จัดการศึกษาเฉพาะแผนกบาลี โดยในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทั้ง ๓ แห่ง ได้ดำเนินไปตามนโยบายของมหาเถรสมาคมมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้การสนองงาน และนโยบายของภาครัฐมีกระทรวงศึกษาธิการคอยกำกับดูแลร่วมกันรวมทั้งการดูแลด้านหลักสูตร การวัดผลประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณ ส่วนการบริหารจัดการให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส การพัฒนาศาสนทายาทให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ต้องให้ได้รับการพัฒนาคุณลักษณะด้านการศึกษาในเชิงวิชาการและการศึกษาเชิงพุทธควบคู่กันไป โดยยึดทฤษฎีไตรสิกขาเป็นหลักในการศึกษาบูรณาการกับทฤษฎีแรงจูงใจและทฤษฎีบุคลิกภาพของนักจิตวิทยาสมัยใหม่

               รูปแบบในการพัฒนาศาสนทายาทที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนานั้น พบว่าแนวนโยบายการจัดการศึกษาของเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่นยังขาดการวางแผนในการพัฒนาศาสนทายาทร่วมกัน การจัดกระบวนการเรียนการสอนยังขาดความเข้าใจในการนำทฤษฎีการศึกษาและทฤษฎีจิตวิทยามาใช้ในการสร้างแรงจูงใจสร้างความมุ่งมั่นในการที่จะศึกษาให้สำเร็จ การจัดหลักสูตรการศึกษาแผนกธรรมและแผนกบาลีเป็นการศึกษาเฉพาะทางยังไม่เกิดการบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้ศาสนทายาทเกิดการเรียนรู้และ   ประพฤติตนตามหลักศีลาจารวัตรและการพัฒนาบุคลิกภาพยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมจะยอมรับได้ จากการวิจัยจึงได้เสนอรูปแบบการพัฒนาใหม่ตามกระบวนการ PTCC Model มองผ่านทฤษฎีระบบและการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ         พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่ง PTCC Model หมายถึง P: การกำหนดนโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาศาสนทายาทในฐานะเป็นทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเพื่อเชิดชูสถาบันหลักของชาติ กำหนดกรอบวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ โครงการ กิจกรรมในการพัฒนาศาสนทายาทร่วมกันแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน  T: ด้านกระบวนการเรียนการสอนต้องกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับทฤษฎีการพัฒนามนุษย์ สนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์และสังคม ให้ ศาสนทายาทและผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในความมั่นคงของการเข้ามาบรรพชา C: ด้านหลักสูตรต้องกำหนดหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีและแผนกสามัญศึกษาให้บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ C: ด้านคุณลักษณะต้องกำหนดคุณลักษณะด้านการศึกษาและคุณลักษณะเชิงพุทธโดยบูรณาการกับทฤษฎีการศึกษาและทฤษฎีบุคลิกภาพ

      โดยกระบวนการ PTCC Model จะสำเร็จได้ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับทฤษฎีระบบ มีการนำเข้าศาสนทายาท กระบวนการการพัฒนาศาสนทายาท ได้ศาสนทายาทที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในพระพุทธศาสนาตามที่สังคมต้องการ และนำกลับเข้าพัฒนาใหม่ผ่านระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕