หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ทวีศักดิ์ ทองทิพย์
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๑ ครั้ง
ผลของการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์
ชื่อผู้วิจัย : ทวีศักดิ์ ทองทิพย์ ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระธรรมโมลี
  เอกฉัท จารุเมธีชน
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ศึกษาผลการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขา และศึกษาแนวทางพัฒนาการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนวิถีพุทธจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ วิธีดำเนินการวิจัย ใช้การตรวจสอบเอกสาร การสังเกต สอบถาม และสัมภาษณ์ เครื่องมือวิจัยมี ๓ แบบ คือ แบบบันทึกการสังเกต ใช้บันทึกเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ จำนวน ๗ แห่ง แบบสอบถามใช้ถามครู ๙๔ คน และ ผู้ปกครองนักเรียน ๓๑๗ คน และแบบสัมภาษณ์ ใช้สัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา ๗ คน ครู ๗ คน และพระสงฆ์ ๕ รูป วิเคราะห์ข้อมูลแบบพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า

     สภาพปัจจุบันของโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์กลุ่มตัวอย่างมีอายุมากกว่า  ๕๐ ปี ชุมชนรอบ ๆ สถานศึกษาเป็นชนบทกึ่งชุมชนเมือง คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นับถือพระพุทธศาสนา จบการศึกษาสูงสุดประถมศึกษา มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่อครัวเรือน ๒๐,๐๐๐ ถึง ๖๐,๐๐๐ บาท ภายในสถานศึกษา มีอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ดี จำนวนบุคลากรต่ำสุด ๘ คน และสูงสุด ๒๖ คน วุฒิการศึกษาต่ำสุดปริญญาตรี และสูงสุดปริญญาโท จำนวนนักเรียนต่ำสุด ๑๑๒ คน และสูงสุด ๓๖๗ คน จัดโครงสร้างการบริหารงานเป็น ๔ ด้าน คือ ด้านวิชาการ งบประมาณ งานบุคคล และ การบริหารทั่วไป มีการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของสถานศึกษา มีแนวทางพัฒนาและกลยุทธ์การพัฒนา มีการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ และมีการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ

              ผลการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ มีผลสำเร็จ ๓ ประการ คือ ๑) ผลสำเร็จตามจุดเน้นด้านอัตลักษณ์ของโรงเรียนวิถีพุทธ มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม และผลการประเมินความคิดเห็นของบุคลากรในสถานศึกษาและความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อผลสำเร็จตามจุดเน้นด้านอัตลักษณ์ของโรงเรียนวิถีพุทธ โดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก ๒) ผลสำเร็จตามผลการประเมินมาตรฐานการศึกษาของ สมศ. โดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินความคิดเห็นของบุคลากรในสถานศึกษาที่มีต่อคุณภาพการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาโดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก ๓) ผลสำเร็จของการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขา พบว่าสถานศึกษามีทรัพยากรทางการบริหารทุกด้านอย่างพอเพียงและมีการบูรณาการหลักไตรสิกขาในด้านกระบวนการบริหาร เป็นไปตามหลักของไตรสิกขา ชุมชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ และผลการประเมินความคิดเห็นของบุคลากรในสถานศึกษาและความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน โดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก         แนวทางพัฒนาการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนวิถีพุทธจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ มี ๓ แนวทาง คือ ๑) แนวทางพัฒนาด้านอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ กลุ่มตัวบ่งชี้ใดที่ดำเนินการได้ครบถ้วนตามจุดเน้นด้านอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธแล้วสถานศึกษาต้องรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป กลุ่มตัวบ่งชี้ใดที่ยังมิได้ดำเนินการต้องจัดดำเนินการให้มีขึ้น และให้นำแนวทางพัฒนาที่นำเสนอไว้ในด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรม นักเรียน ครู ผู้บริหาร ด้านกิจกรรมประจำวันพระ ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ และด้านการเรียนการสอน  มาใช้เป็นแนวทางพัฒนาด้านอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ ๒) แนวทางพัฒนาด้านคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ให้นำแนวทางพัฒนาตามมาตรฐานที่นำเสนอไว้ในด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านการจัดการศึกษา ด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้านอัตลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านมาตรการส่งเสริม มาใช้เป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ๓) แนวทางพัฒนาด้านการบริหารสถานศึกษาตามหลักไตรสิกขา ด้านสถานศึกษา จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมให้เป็นไปตามหลักของศีล ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกัลยาณมิตร จัดกิจกรรมพัฒนาด้านสมรรถภาพจิต คุณภาพจิต สุขภาพจิต จัดกิจกรรมพัฒนาปัญญาของบุคลากรและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้านชุมชน สถานศึกษาและสถาบันในชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕