หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเอนก มหคฺฆปญฺโฃ (พัดไธสง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติของภิกษุฉัพพัคคีย์
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเอนก มหคฺฆปญฺโฃ (พัดไธสง) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริฃาโณ)
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                   วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาพระพุทธบัญญัติที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก  ๒) เพื่อศึกษาการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติของภิกษุฉัพพัคคีย์  และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติของภิกษุฉัพพัคคีย์

                   ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธบัญญัติหมายถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้เพื่อปกครองภิกษุให้ประพฤติเรียบร้อยดีงาม ถือเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาเรียกว่า “พระวินัย หรือ ศีล ๒๒๗ ข้อ” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีภิกษุประพฤติไม่ถูกต้องเหมาะสมหรือประพฤติเสียหายขึ้น จนชาวบ้านพากันตำหนิโพนทะนา ทรงรับทราบแล้วจึงให้ประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความจริงแล้วจึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้

                   พระภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้แก่ พระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ พระเมตติยะ พระภุมมชกะ พระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ เดิมที เป็นสหายกันตั้งแต่ก่อนบวช อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่อบวชแล้วได้มีสมัญญานามปรากฏในพระพุทธศาสนาว่า “ฉัพพัคคีย์” หมายถึง ภิกษุที่มีพวก ๖ รูป ซึ่งพวกท่านทั้ง ๖ รูปเป็นภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เหตุเนื่องจากอาศัยความคึกคะนองและความดื้อรั้นอันเป็นอุปนิสัยส่วนตัวและความไม่ละอายต่อความผิด ไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาอย่างมาก เป็นกลุ่มภิกษุที่เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทมากที่สุด จัดเป็นอาทิกัมมิกะคือต้นบัญญัติและอนุบัญญัติจำนวน ๑๓๒ สิกขาบท ได้แก่ ปาราชิก ๒ สิกขาบท, สังฆาทิเสส ๓ สิกขาบท, นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๑๒ สิกขาบท, ปาจิตตีย์ ๔๒ สิกขาบท, ปาฏิเทสนียะ ๑ สิกขาบท และเสขิยวัตร ๗๒ สิกขาบท นอกจากนี้ยังเป็นต้นบัญญัติแห่งสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์อีกจำนวนมาก

            ภิกษุฉัพพัคคีย์ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เป็นบุคคลที่อนุชนทั้งหลายไม่พึงประพฤติปฏิบัติตาม เพราะถ้าหากใครประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ผลที่ได้จะเป็นไปในทางเสื่อมเสีย คือมีจริยามารยาทที่ไม่งดงามเรียบร้อย เป็นที่ติฉินนินทาและไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะของชนทั่วไป ย่อมไม่เจริญในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์คือพระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕