หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระทวีศักดิ์ นรินฺโท (ใต้ศรีโคตร)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
คติความเชื่อประเพณี เกี่ยวกับผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ชื่อผู้วิจัย : พระทวีศักดิ์ นรินฺโท (ใต้ศรีโคตร) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามิตร ฐิตปญฺโญ
  สุวิน ทองปั้น
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อศึกษาคติความเชื่อเรื่องผีในมุมมองของพระพุทธศาสนาเถรวาท๒) เพื่อศึกษาคติความเชื่อประเพณีเกี่ยวกับผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยและ ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของประเพณีผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลยการวิจัยในครั้งนี้เป็นเชิงคุณภาพ (Qualitative research)ใช้วิธีการวิจัยโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบเจาะจง  กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน ๔ คน พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในเขตตำบลด่านซ้าย จำนวน ๖ รูปผู้ประกอบพิธีกรรม จำนวน ๓ คน  ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ที่เคยเห็นการละเล่นท้องถิ่น จำนวน ๑๔ คน รวม ๒๗ รูป/คนวิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษา  พบว่า 

๑) ความเชื่อเกี่ยวกับผีในพุทธศาสนา พบว่า พุทธศาสนามีแนวคิดและให้ความสำคัญกับชีวิตหลังตาย โดยอธิบายผ่านหลักคำสอน คือ  สังสารวัฏ โดยเฉพาะประเภทแรก คือ ภูมิชั้นต่ำเลว มีทุกข์มาก สัตว์จำพวกนี้มีอำนาจลึกลับ สามารถ ให้คุณให้โทษกับมนุษย์ได้ คือ เปรต โอปปาติกะ มาร อสูร ยักษ์ และเทวดาชั้นต่ำ สัตว์เหล่านี้ เรียกว่า อมนุษย์  ทั้งมีในลักษณะ ที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เมื่อความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ซึ่งมีมาจากความเชื่อเดิม และความเชื่อเรื่องผีในพระพุทธศาสนาจึงเกี่ยวพันกันจนกลายเป็นประเพณีที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผีและความเชื่อเรื่องพระพุทธศาสนาที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและภูมิภาค

๒)  คติความเชื่อประเพณีเกี่ยวกับผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ผีตาโขนเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตในสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักและความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าหากไม่ประกอบพิธีอาจเกิด “ขะลำ” หรือผิดจารีตของหมู่บ้านทำให้มีเหตุเภทภัยต่างๆ นานา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทในสังคมเกษตรกรรม  ผีตาโขนจึงถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบุญหลวง 

๓)  คุณค่าของประเพณีผีตาโขนมีคุณค่าด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นศิลปะประจำท้องถิ่น คือ หน้ากากผีตาโขน  การแต่งกายของผีตาโขนคำเซิ้ง  คุณค่าด้านขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ คุณค่าด้านสังคมก่อให้เกิดความปรองดองสามัคคีกันในสังคมและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนคุณค่าด้านเศรษฐกิจและการเมือง  คุณค่าด้านการศึกษาและคุณค่าด้านพระพุทธศาสนา  ศาสนาที่ชาวอำเภอด่านซ้ายยึดถือปฏิบัติในสังคมนั้นเป็นศาสนาพุทธแบบชาวบ้าน  เกิดความตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนาและการแสวงหาความสุขในการให้ทานและเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา 

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕