บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมในการเข้าทรงโดยวางวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการด้วยกันคือ ๑.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนากับพิธีกรรมในการเข้าทรงชุมชนบ้านศาลาสามัคคี ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ๒.เพื่อศึกษาความเชื่อในพิธีกรรมการเข้าทรงของชาวพุทธ ชุมชนบ้านศาลาสามมัคคีคำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ๓. เพื่อศึกษาอิทธิพลความเชื่อในพิธีกรรมการเข้าทรงของชุมชนที่มีในด้าน ศาสนา ด้านการรักษา ด้านการศึกษา ด้านการสื่อสาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ตลอดถึงสังคมและวัฒนธรรม ของชุมชนบ้านศาลาสามัคคี ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ วิธีการดำเนินการวิจัย ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ตำรา เอกสารทางวิชาการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตลอดถึงผู้วิจัยได้ลงสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และลงพื้นที่ที่มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องและเข้าไปมีส่วนร่วม ในพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชน และรายงานที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับพิธีกรรมของร่างทรง พบว่า ความเชื่อส่วนใหญ่ของร่างทรงที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา คือ ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติธรรม ความเชื่อในเรื่องการสวดมนต์ไหว้พระ ความเชื่อในการถือศีลกินเจ เลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน และความเชื่อในการทอดกฐิน ผ้าป่า ช่วยบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ถ้าจะแบ่งความเชื่อของร่างทรงออกเป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ พบว่า ร่างทรงที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนา พิธีกรรมที่กระทำสูงสุดคือ การปฏิบัติธรรมสวดมนต์พระคาถาต่างๆอาทิเช่น ก่อนการเริ่มพิธีกรรมนั้นร่างทรง และผู้ที่จะเข้าร่วมประกอบพิธีนั้นจะมีการสวดมนต์ นมัสการพระรัตนตรัย บทชุมนุมเทวดา สักเค... บทเจริญคุณ... พระคาถายอดพระกัณไตรปิฎกพระคาถาชินบัญชร พาหุงมหากา มลคลจักวาล เป็นต้น ซึ่งบทสวดเหล่านี้บรรดาร่างทรงที่มีการประกอบพิธีกรรมได้นำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบพิธีรองลงมาคือ ทำบุญให้ทานตามโอกาสต่าง ๆร่างทรงที่มีความเชื่อด้านอื่น ๆ คือ พิธีกรรมไหว้ครูประจำปี รองลงมาคือ การรักษาโรค การถอนคุณไสย การทำพีธีเสดาะเคราะห์ต่อชะตา เป็นต้น
ความเชื่อและการนับถือผีของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยส่วย –กูย มี ๓ ประเภทอันได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับผี ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และความเชื่อเกี่ยวกับข้อขะลำ ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดในกลุ่มสังคมในแต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีความหมายต่อสังคมและชุมชนทั้งสิ้น ไม่มีพิธีกรรมใดที่สร้างขึ้นหรือ ทำการประกอบพิธีขึ้นโดยไม่มีความหมาย ทั้งนี้ในด้านการประกอบพิธีกรรมนั้นก็ได้มีการสอดแทรกและรับเอาขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ที่มีต่อพระพุทธศาสนาเข้ามารวมด้วยทุกพิธีกรรมไป เช่น การบูชาดอกไม้ธูปเทียน การขอขมากรรมต่อบรรพบุรุษ ก่อนเริ่มพิธีกรรมมีการ ตั้งนะโม... และกล่าวชุมนุมเทวดา.... และมีการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางแม่ธรณี ขอขมาต่อผู้เฒ่าผู้แก่ อันแสดงถึงความเคารพนบไหว้ ยำเกรงต่อสิ่งที่ควรเคารพกราบไหว้ ซึ่งสิ่งทั้งมวลนี้ได้มีการรับเอามาจากพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น นี้จึงเป็นการเผยแผ่ศาสนาโดยทางอ้อม เป็นการสอดแทรกซึ่งคุณธรรมจริยธรรมไว้ในพิธีกรรม อย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน
การที่จะประกอบพิธีกรรมแก็ลมอ (เข้าทรง ) เพื่อการรักษาผู้ป่วยของชาวไทยส่วย –กูย นั้นมี ๒ กรณี อันได้แก่ เกิดจากการบนบานไว้เมื่อครั้งที่ตนยังเจ็บป่วย และเกิดจากการประกอบพิธีกรรมขึ้น เพื่อการรักษาในขณะนั้นเลย แต่การนี้ก็เป็นผู้รักษาด้วยพิธีกรรมแก็ลมอ (เข้าทรง ) ทุกคนก็ได้ผ่านการรักษา หรือ ได้รับการรักษาโดยวิธีการจากแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ที่ยังต้องรับการรักษาโดยการประกอบพิธีกรรมแก็ลมอ (เข้าทรง ) เกิดจากความต้องการกำลังใจอีกทางหนึ่ง หรืออาจจะมีความเชื่อในพิธีกรรม ดังนั้นในการประกอบพิธีกรรมแก็ลมอ (เข้าทรง ) แต่ละครั้งจะมีการรวมกลุ่ม เครือญาติและบุคคลในชุมชน เปรียบได้ดังการได้จัดพิธีกรรมให้ผู้ป่วย และได้รับกำลังใจจากญาติมิตรอันเป็นกำลังใจที่มีอิทธิพลมากพอสมควร แต่ในระดับหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นจะจัดได้ง่ายหรือสามารถที่จะกระทำได้สะดวกกว่าเพราะเป็นการรวมกลุ่ม ของญาติพี่น้องทุกคน วิธีการรักษาจะเน้นทางสุขภาพจิตเป็นสำคัญ เช่น การขอขมา การขอโทษ ต่อบรรพบุรุษ หรือ ครู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ของรักษา ) ที่ตนเองได้ให้ความเคารพนับถือ ซึ่งได้มีการจัดพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มที่ตนเองได้ให้ความเคารพนับถือ เช่น มีการบวงสรวงเซ่นไหว้สังเวยบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การประกอบพิธีกรรมการเข้าทรง ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และพิธีเรียกขวัญแก่ผู้ป่วย เป็นต้น
อิทธิพลความเชื่อในพิธีกรรมการเข้าทรงของชุมชนนั้น พิธีกรรมการเข้าทรงเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วย หรือการทำนายทายทัก ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่พึ่งอำนาจภายนอกสิ่งเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมนี้มีมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน แม้นคนยุคสมัยนี้จะว่ากันว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าก็ตามแต่ความสำคัญ ความเชื่อยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย จนมีการรับช่วงต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นประเพณีของชาวชุมชน ปัจจุบันยังมีการประกอบพิธีกรรมเช่นนี้อยู่ ทั้งนี้พิธีกรรมเข้าทรงมีอิทธิพลต่อชุมชน สังคม ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ อิทธิพลด้านศาสนา ด้านการรักษา ด้านการศึกษา ด้านการสื่อสาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง และด้านสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น
ดาวน์โหลด
|