บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาปริวาสกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการเข้าอยู่ปริวาสกรรมในสมัยพุทธกาล (๓) เพื่อศึกษาการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
ผลการศึกษาพบว่า
ปริวาสกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ การประพฤติวุฏฐานวิธีของพระภิกษุ ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แล้วปกปิดไว้ หรือไม่ได้ปกปิดไว้ก็ตาม เป็นบทลงโทษแก่ภิกษุ เมื่อต้องการที่จะเปลื้องตนออกจากอาบัตินั้นจึงต้องอยู่ปริวาสกรรม เป็นพุทธานุญาตที่จะทรงให้พระสงฆ์จัดการกันเอง ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส จะต้องเข้าไปหาสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เพื่อแจ้งให้สงฆ์ทราบ และขอปริวาสเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงขอปริวาสและมานัตกับสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปอีก ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก็คือการขออัพภานกับสงฆ์ตั้งแต่ ๒๐ รูป ขึ้นไป ปริวาสจัดเป็นกรรมเบื้องตน มานัต อัพภาน จึงจัดเป็นกรรมที่เหลือ นอกจากนั้น การเข้าอยู่ปริวาสกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทยังเป็นบททดสอบความตั้งใจจริงของผู้ที่จะเข้า มาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ปริวาสกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท จึงมี ๒ ประเภท คือ ปริวาสกรรมของภิกษุ มีปฏิจฉันนปริวาส เป็นต้น และปริวาสกรรมของคฤหัสถ์ ที่เรียกว่า ติตถิยปริวาส
การเข้าอยู่ปริวาสกรรมในสมัยพุทธกาลมีขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตติอาบัติสังฆาทิเสสแก่ภิกษุแล้ว ภิกษุทั้งหลายในสมัยพุทธกาลต้องอาบัติสังฆาทิเสสในสิกขาบทต่างๆและมีการเข้าอยู่ ปริวาสกรรมในสำนักสงฆ์มากขึ้นแต่ก็ยังประพฤติตนไม่เหมาะสมโดยประการต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัตติปริวาสิกวัตร ๙๔ ข้อ โดยแบ่งออกเป็น ๘ หมวด สำหรับให้ภิกษุ ผู้อยู่ปริวาสกรรมได้ประพฤติ การประพฤติวัตรตลอดเวลาสร้างความลำบากให้แก่ภิกษุผู้อยู่ปริวาสกรรมเป็นอย่างมาก พระพุทธองค์ยังได้ทรงบัญญัตติข้อปฏิบัติเพิ่มเติมอีกเช่น การเก็บวัตร การสมาทานวัตร เป็นต้น การเข้าอยู่ปริวาสกรรมในสมัยพุทธกาลจึงมี ๔ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส อปฏิจฉันนปริวาส สุทธันตปริวาส สโมธานปริวาส
การเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน เป็นการชำระศีลในส่วนที่เป็น ครุกาบัติที่พอแก้ไขได้ทำความบกพร่องของศีลให้มีความสมบูรณ์ขึ้น มีขั้นตอนละวิธีการเข้าอยู่ คือ ขั้นตอนละวิธีการก่อนเข้าอยู่ ขั้นตอนละวิธีการขณะเข้าอยู่ ขั้นตอนละวิธีการหลังเข้าอยู่ กิจกรรมการเข้าอยู่ปริวาสกรรมเช่น การฟังธรรม การนั่งสมาธิ เดินจงกรม การบอกวัตร การเก็บวัตร เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการปฏิบัติในแต่ละสำนักมีความแตกต่างกันโดยยึดถือตามธรรมเนียมในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปแบบของคณะครูบาอาจารย์ที่ได้นำปฏิบัติสืบๆกันมา แต่ไม่ว่าการเข้าอยู่ปริวาสกรรมจะมีรูปแบบการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไรก็ตามก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล และเพื่อความผ่องใสแห่งจิต
ดาวน์โหลด |