หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์ปิยะวัฒน์ ฐิตสทฺโธ (ศิริสอน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
การศึกษาสมบัติและวิบัติที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์ปิยะวัฒน์ ฐิตสทฺโธ (ศิริสอน) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู
  วรกฤต เถื่อนช้าง
  วัฒนะ กัลยาณ์พัฒน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                   งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาเรื่องสมบัติในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาเรื่องวิบัติในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อวิเคราะห์เรื่องสมบัติและวิบัติในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา สำรวจข้อมูลทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

               ผลการศึกษาพบว่า

                   ๑. สมบัติในพระพุทธศาสนา หมายถึง  ข้อดี ความเพียบพร้อม ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอำนวยผลดีให้แก่การประกอบกรรม มีอยู่ ๔ ประการ คือ ๑) คติสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยคติที่ไป คือ การเกิดในประเทศที่สมควรและเหมาะสมในการที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัย มีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ๒) อุปธิสมบัติ  ความถึงพร้อมด้วยรูปกายสมส่วน งดงาม คือ มีอวัยวะครบ  ๓๒  ประการ สมบูรณ์และงดงามตามสภาวะแห่งตน ไม่เป็นอุปสรรคในการประกอบกุศลตามความต้องการของมนุษย์และสรรพสัตว์ที่มองเห็นความทุกข์ที่เกิดจากการผิดศีล   ๓) กาลสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยกาล คือเวลาที่เหมาะสม ในการที่จะแสดงความมีสติปัญญาสามารถในการนำสังคมไปสู่สันติสุขได้    และ ๔) ปโยคสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร สมบัติทั้ง ๔ ประการจะบังเกิดได้ต่อเมื่อมีการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือที่เรียกว่าที่ตั้งแห่งการทำบุญเพื่อให้ได้สมบัติ คือ ๑) การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ปัน คือการรู้จักให้ทาน อันเป็นการสละความเห็นแก่ตัว หรือที่เรียกว่าความตระหนี่ที่มีในตนให้เบาบางลงตามสมควรแก่เหตุ อันมีปัญญาเป็นเครื่องประคับประคอง ๒) การมีศีล  คือการไม่เบียดเบียนกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์และสรรพสัตว์ที่มองเห็นความทุกข์ที่เกิดจาการผิดศีล และ ๓) การพัฒนาสมาธิ คือการรู้จักอบรมจิตของตนเอง อันเป็นการพิจารณาจัดระเบียบความคิดของตนให้เป็นระบบ รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก ตามหลักธรรม

๒. วิบัติ หมายถึง ข้อเสีย จุดอ่อน ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยผลที่เกื้อกูลแก่การให้ผลของกรรมดี มีอยู่ ๔ ประการ คือ ๑) คติวิบัติ คติเสีย เช่น ในสมัยพุทธบาทกาลนี้มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสสอนธรรม เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าเขา แม้จะมีสติปัญญาดี ก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาปฏิบัติตามหลักธรรม  ๒) อุปธิวิบัติ รูปกายเสีย คือการได้เกิดในถิ่นหรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์อันน่าพึงพอใจของชาวโลกแต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับการยกย่องเชิดชูด้วยเกียรติยศจากสังคมที่ชาวโลกนับถือกันว่าเป็นความสุขเพราะร่างกายหรือสังขารไม่เอื้ออำนวย ๓) กาลวิบัติ กาลเสีย เช่น ในยามที่สังคมเริ่มเสื่อมจากศีลธรรมหรือยามบ้านเมืองวุ่นวาย ด้วยศึกสงคราม กอรปกับผู้ปกครองมีจิตใจที่ไม่มั่นคง  แม้จะมีผู้ที่มีสติปัญญาความสามารถ ที่ได้รับการยกย่องจากสังคมมาให้การแนะนำในแนวทางแห่งสันติสุข  ก็ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เพราะคำแนะนำของท่านไม่เหมาะกับโอกาสและกาลในขณะนั้น และ ๔) ปโยควิบัติ กิจการเสีย คือ การประกอบกิจที่ไม่ส่งผลในทางที่ดีแก่ผู้ประกอบ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญทั้ง    ประการ เช่น มีความถึงพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิที่สังคมรองรับแต่ความประพฤติคือนิสัยไม่ดีติดสุราและการพนัน   ไม่รู้จักให้ปันสิ่งของ และไม่มีการอบรมจิต ตกเป็นทาสของอบายมุข ถ้าเลือกให้ไปทำงาน งานนั้นๆย่อมเกิดความเสียหาย   

๓. สมบัติมีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน เริ่มต้นจากการปฏิบัติที่ปัจเจกบุคคล  ครอบครัว จนถึงสังคมประเทศชาติด้วยหลักศรัทธา มีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรมหรือการกระทำ โดยเฉพาะในทัศนะของพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่ทุกคนมีความเสมอภาคในศักยภาพทางจิตวิญญาณที่จะบรรลุธรรมที่เรียกว่าอริยสมบัติ ซึ่งการที่จะประสบกับความสำเร็จแห่งกิจนั้นๆได้ ต้องประกอบไปด้วยหลักธรรมที่องอาจกล้าหาญ  คือ “เวสารัชชกรณธรรม” อันประกอบด้วยศรัทธา  และมีปัญญาคอยกำกับให้มุ่งตรงต่อเป้าหมาย

ส่วนวิบัตินั้นเป็นสิ่งตรงกันข้ามที่ทำให้ชีวิตหม่นหมองและไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคลในสังคม เพราะมีความเห็นตรงกันข้ามกับแนวทางที่สังคมยอมรับและถือปฏิบัติ ที่เรียกกันว่า “ทิฏฐิวิบัติ” คือมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  ขาดความศรัทธาต่อหลักธรรมอันเป็นกฎหมายทางจริยธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์  ผู้ที่ประกอบด้วยวิบัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นวิบัติ อะไรก็ตามอันนับเนื่องในวิบัติทั้ง ๔  ล้วนนำมาซึ่งความเสียหายทั้งแก่ตนเอง และสังคมส่วนรวม

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕