บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาเนื้อหาสาระของเนมิราชชาดก (๒) เพื่อศึกษาหลักอธิษฐานบารมีที่ปรากฏ ในเนมิราชชาดก และ (๓) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่สนับสนุนกับอธิษฐานบารมีในเนมิราชชาดก ผลการวิจัยพบว่า
เนื้อหาสาระของเนมิราชชาดก พบว่า พระเนมิราช ผู้บำเพ็ญอธิษฐานบารมี (เนมิราชชาดก) พระราชาแห่งเมืองมิถิลา ทรงมีพระโอรสนามว่า เนมิกุมาร ผู้จะทรงสืบสมบัติในกรุงมิถิลาต่อไป พระเนมิกุมาร ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบำเพ็ญทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรักษาศีลอุโบสถ อย่างเคร่งครัด เมื่อพระบิดาทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอก ก็ทรงรำพึงว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะมอบราชสมบัติให้ แก่โอรสแล้ว พระองค์เองก็จะได้เสด็จออกบำเพ็ญเพียรในทางธรรมต่อไป จึงทรงมอบราชสมบัติเมือง มิถิลาให้แก่พระเนมิราชกุมาร ขึ้นครองเป็นพระเจ้าเนมิราช ส่วนพระองค์เองก็เสด็จออกบวช รักษาศีลตราบจนสวรรคต เมื่อพระเจ้าเนมิราชครองราชสมบัติ โปรดให้สร้างโรงทาน ริมประตูเมือง ๔ แห่ง โรงทานกลางพระนคร ๑ แห่ง ทรงบริจาคทานแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงรักษาศีล และสั่งสอนประชาชนของพระองค์ให้ตั้ง มั่นอยู่ในศีลในธรรม ครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ไม่มีการเบียดเบียน ดังนั้นเนื้อหาในชาดก คือ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จนเมื่อสิ้นชีวิตลงก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก
หลักอธิษฐานของพระเนมิราชที่ปรากฏในเนมิราชชาดกพบว่า การบำเพ็ญอธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์ เนมิราชชาดกก็เป็นหนึ่งในทศชาดก เมื่อได้ศึกษาเนื้อเรื่องในเนมิราชชาดก อธิษฐานบารมี ได้จากที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ในการบริจาคและรักษาศีลภาวนา การอธิษฐานบารมีจึงมีความสำคัญต่อการประพฤติพรหมจรรย์เป็นอย่างมาก
หลักธรรมที่สนับสนุนกับอธิษฐานบารมีในเนมิราชชาดก พบว่าพระเจ้าเนมิราชทรงดำเนินตามหลักธรรม หลักธรรมที่สนับสนุนกับอธิษฐานบารมีในเนมิราชชาดก ได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ ๓, สัปปุริสธรรม ๗, ทศพิธราชธรรม ๑๐, อิทธิบาท ๔, พรหมวิหาร ๔, อธิฐานธรรม ๔ ที่พระเจ้าเนมิราชทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยอาศัยคำอธิษฐานที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ดังนั้นสังคมไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดการเข้าใจในพระพุทธศาสนาอันจะทำให้ตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป
ดาวน์โหลด
|