บทคัดย่อ งานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยแบบผสมทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาตนตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทและทฤษฎีระบบ ๒) เพื่อศึกษาระบบการพัฒนาตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบระบบการพัฒนาตนในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท ผลการวิจัยพบว่า:- ๑) แนวคิด หลักการและกระบวนธรรมเพื่อการพัฒนาตนตามแนวพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะศึกษา ฝึกฝน และพัฒนาตนเองได้ มีอริยสัจ ๔ เป็นหลักการครอบคลุมหลักธรรมทั้งหมด มีหลักปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนตามหลักทางสายกลางและหลักไตรสิกขา และมีกระบวนการปฏิบัติตามกลุ่มธรรมอาหารของวิชชาและวิมุตติซึ่งแสดงคุณสมบัติภายในที่เกิดขึ้นตามลำดับ และมีลักษณะ ๕ ประการที่สอดคล้องกับลักษณะของระบบทำให้สามารถบูรณาการกับทฤษฎีระบบเพื่อพัฒนาระบบการพัฒนาตนตามแนวพระพุทธศาสนาได้ (๒) ระบบการพัฒนาตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่เกิดจากการบูรณาการกระบวนธรรมอาหารของวิชชาและวิมุตติกับทฤษฎีระบบ ด้วยการพัฒนาระบบ ๕ ขั้นตอน คือ ๑) การวิเคราะห์ระบบ ๒) การสังเคราะห์ระบบ ๓) การออกแบบระบบ ๔) การตรวจสอบระบบ ๕) การปรับปรุงระบบ จะได้เป็นโครงสร้างต้นแบบระบบการพัฒนาตนตามแนวพระพุทธศาสนา ที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนาตนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายสูงสุด อันจะนำไปสู่การปรับปรุงหรือพัฒนาวิธีการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (๓) ผลจากการนำเสนอรูปแบบระบบการพัฒนาตนในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท และนำไปประยุกต์กับกลุ่มตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังต่อไปนี้ - กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจหลักการ และวิธีการประยุกต์ระบบการพัฒนาตนในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเข้าใจวิธีการนำแบบประเมินคุณสมบัติของการพัฒนาตนใช้วัดความถูกต้องและความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕ - กลุ่มตัวอย่างมีความพอใจ แนวทางการพัฒนาตนเองด้วยระบบการพัฒนาตนในชีวิตประจำวัน ทั้งสองครั้งในระดับมาก รูปแบบระบบการพัฒนาตนในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เบื้องหน้าและประโยชน์สูงสุด ในกลุ่มชาวพุทธที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นพื้นฐาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจหลักและวิธีการประยุกต์ระบบการพัฒนาตน รวมทั้งใช้วัดคุณสมบัติในการพัฒนาตนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความก้าวหน้าในการปฏิบัติ และเมื่อนำไปประยุกต์กับกลุ่มตัวอย่าง สามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ดาวน์โหลด