หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สรณีย์ สายศร
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๗ ครั้ง
การบูรณาการหลักการทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจิตอาสา
ชื่อผู้วิจัย : สรณีย์ สายศร ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประเวศ อินทองปาน
  ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๔ ประการ ได้แก่  ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการในการทำงานจิตอาสา ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจิตอาสา     ๓) เพื่อศึกษาการถอดบทเรียนในการทำงานจิตอาสาของตัวอย่างอาสาสมัครและองค์กรที่ทำงานด้านจิตอาสาในประเทศไทย  ๔) เพื่อบูรณาการแนวคิดและหลักการทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจิตอาสากับแนวคิดและหลักการในการทำงานจิตอาสา และการถอดบทเรียนในการทำงานจิตอาสาของตัวอย่างอาสาสมัครและองค์กรที่ทำงานด้านจิตอาสาในประเทศไทยเข้าด้วยกัน รวมทั้งนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ คือ “หลักการทำงานจิตอาสาแนวพุทธเชิงบูรณาการ” เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำงานจิตอาสา

            จากการวิจัยพบว่า ความหมายและแนวคิดของจิตอาสาในบริบทของสังคมปัจจุบัน  หมายถึง การมีจิตอาสาที่อาสาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ หรือช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นจิตที่ไม่นิ่งเฉยเมื่อพบปัญหาและความทุกข์เกิดขึ้นกับผู้อื่นและสังคม  เป็นจิตที่พร้อมจะเสียสละเวลา  กำลังทางกาย จิตใจ ทรัพย์สินหรือสติปัญญา  เพื่อก่อให้เกิดสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่นและเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมไปถึงการทำความดีเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม  

สำหรับแนวคิดและหลักการทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจิตอาสา คำว่า          จิตอาสา ไม่มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกโดยตรง แต่พระพุทธศาสนาก็มีแนวคิดเกี่ยวกับจิตอาสาปรากฏอยู่ทั้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงพระพุทธพจน์และปรากฏผ่านพระจริยาของ  พระสาวกหรือพุทธบริษัทด้วย โดยเฉพาะในประเด็นของการมีจิตที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ ความเมตตา กรุณา ความเสียสละและปรารถนาจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ประสบประโยชน์สุข โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน สำหรับพระพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าที่ประกอบไปด้วยพระกรุณาคุณอันบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสนั้น ผู้วิจัยมีความเห็นว่า คุณธรรมและหลักการทำงานเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ของพระพุทธเจ้า สามารถนำมาเป็นกรอบหรือแนวคิดเพื่อนำมาประยุกต์กับการทำงานจิตอาสาอย่างเหมาะสมในบริบทของสังคมปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็น หลัก            พระพุทธคุณ ๓ ประการ คือ พระปัญญาคุณ  พระบริสุทธิ์คุณ และพระกรุณาคุณ รวมไปถึงหลักการทำงานเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากปัญหาและความทุกข์ทั้งในระดับโลกียสุขและในระดับโลกุตตรสุข  ผ่านพระพุทธจริยา ๓ ประการ คือ โลกัตถจริยา  ญาตัตถจริยา และ        พุทธัตถจริยา รวมทั้งหลักพุทธธรรมต่างๆ

จากความหมายและแนวคิดเรื่องจิตอาสาจากการถอดประสบการณ์ของตัวอย่างอาสาสมัครขององค์กรที่ทำงานด้านจิตอาสาในประเทศไทย ๓ องค์กรที่เป็นกรณีศึกษา  จิตอาสา หมายถึง การมีความปรารถนาดีและปรารถนาช่วยเหลือผู้อื่น หรือการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น หรือ ผู้ที่มีความทุกข์หรือปัญหา รวมไปถึง การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยความเสียสละจากจิตใจที่บริสุทธิ์ และความสมัครใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน  วิธีการและหลักการในการทำงานจิตอาสาจะมีความหลากหลาย โดยยึดถือประโยชน์และความสุขของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นหลัก

ตามวัตถุประสงค์ข้อสุดท้าย ผู้วิจัยได้นำแนวคิดทั้ง ๓ ประการข้างต้นมาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่คือ  “หลักการทำงานจิตอาสาแนวพุทธเชิงบูรณาการ” เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจิตอาสาในยุคปัจจุบัน โดยผู้วิจัยได้สร้างและนำเสนอ แนวคิด รวมทั้งรูปแบบของหลักการทำงานจิตอาสาแนวพุทธเชิงบูรณาการ โดยแบ่งเป็น “หลักคิด” ที่เน้นสร้างความเข้าใจหรือสร้างคุณสมบัติภายในจิตใจโดยอาศัยการประยุกต์หลัก   พระพุทธคุณ  พระพุทธจริยา และพุทธธรรม ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมภายนอกในการลงภาคสนามของการทำงานจิตอาสา จากนั้นจึงเข้าสู่ภาคปฏิบัติที่ต้องอาศัย “วิธีการ” เพื่อเป็นแนวทางในการลงมือให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแบบบูรณาการผ่านการทำงานจิตอาสาทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านร่างกาย  ด้านจิตใจ  ด้านปัญญา และด้านสังคม โดยจะให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งอามิสทาน หรือ วัตถุ และเน้นการให้ธรรมทาน คือ วิชา ความรู้ ข้อคิด โดยเฉพาะความรู้ทางธรรมะ หรือสัจธรรมเพื่อนำไปแก้ปัญหาความทุกข์ได้ รวมทั้งยังมีการประยุกต์หลักการการจัดการแบบสมัยใหม่เพื่อการบริหาร จัดการงานจิตอาสา เพื่อนำไปสู่ “ผลที่มุ่งหวัง” คือ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อบุคคลผู้ที่ทำงานจิตอาสา  ประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ให้บรรลุถึงประโยชน์ทั้งในระดับโลกียสุข และโลกุตตรสุข

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕