บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าฮูปแต้มเชิงพุทธศิลป์ในสิมวัดโพธิ์ชัย ตำบลนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของฮูปแต้มตามบริบทของชาวอีสาน (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏใน ฮูปแต้มสิมวัดโพธิ์ชัย (๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของฮูปแต้มสิมวัดโพธิ์ชัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารคัมภีร์พระไตรปิฎก เอกสารงานวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างจากประชากรกลุ่มเป้าหมาย แล้วนำผลการวิจัยมาเขียนเป็นรายงานด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า ฮูปแต้มส่วนใหญ่ในภาคอีสานเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจจากเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมพื้นบ้าน ถ่ายทอดผ่านฮูปแต้มที่ผสมผสานระหว่างพุทธศิลป์ส่วนกลางของไทยกับล้านช้าง สอดแทรกไปด้วยภาพวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย – ลาวที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง มีรูปแบบ กรรมวิธี หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่ไม่สลับซับซ้อนและมีกฎเกณฑ์แน่ชัด ช่างสามารถแสดงออกด้วยทักษะและความสามารถทางเชิงช่างของแต่ละคนอย่างอิสรเสรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถวายความศรัทธาเป็นพุทธบูชา แต่งแต้มศาสนสถานเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมเกิดความศรัทธา ส่วนผู้ที่มีความศรัทธาอยู่แล้วก็ทำให้ซาบซึ้งในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในฮูปแต้มวัดโพธิ์ชัยแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ หลักพุทธจริยธรรมที่เกี่ยวกับสังคมประกอบด้วยหลักสันติภาพ บุพเพสันนิวาส และความกตัญญู หลักพุทธจริยธรรมที่เกี่ยวการปกครองประกอบด้วยหลักอธิปไตย พรหมวิหารธรรม สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน พลังของกษัตริย์ ราชธรรม ๑๐ ประการ การเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง และหลักพระเมตตาคุณ หลักพุทธจริยธรรมที่เกี่ยวการศึกษาประกอบด้วยหลักการเทศนา การเป็นพหูสูต และธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หลักการดำเนินชีวิต ประกอบด้วยหลักกรรม การสร้างบุญกุศล ทานบารมี ปัญญาบารมี การอธิษฐานจิต หลักธรรมะย่อมชนะอธรรม การใช้วาจา และความไม่ประมาท และหลักพุทธจริยธรรมที่สอดแทรกไว้ในวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็น อัตตลักษณ์ของชาวอีสาน
คุณค่าของฮูปแต้มวัดโพธิ์ชัย มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา กระตุ้นให้เข้ามาศึกษาหลักธรรมคำสอนรวมถึงแบบอย่างฝีมือช่างที่สืบมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าทางด้านพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา นิเวศวิทยา โบราณคดี ประเพณีและวัฒนธรรม นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภูมิปัญญา เป็นผลสะท้อนมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการทางสังคมเมือง วัฒนธรรมต่างชาติ การคมนาคม การรับรู้ข่าวสารความเป็นไปของสังคมที่อยู่ห่างไกล เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและแนวทางการแสดงออกของช่าง พัฒนาจากสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ดำเนินควบคู่ไปกับความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่ยาวนาน เป็นมรดกทางภูมิปัญญาเผยแพร่ให้คนทั้งหลายได้ซาบซึ้ง นำไปสู่การสืบทอด หวงแหน และอนุรักษ์ให้ดำรงคงอยู่สืบไป
ดาวน์โหลด
|