บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา ๒)ศึกษาการบำเพ็ญขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา ๓) วิเคราะห์การบำเพ็ญขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาเถรวาท ผลการศึกษาพบว่า คำว่า “บารมี” หมายถึงปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวดคือความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่นความเป็นพระพุทธเจ้าและความเป็นมหาสาวกเป็นต้น บารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทมี ๑๐ ประเภทคือทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา บารมีจัดเป็น ๓ ระดับ คือระดับบารมี ระดับ อุปบารมีและระดับปรมัตถบารมี พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทคือผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยบำเพ็ญบารมีอย่างใดอย่างหนึ่งในบารมีทั้ง ๑๐ ประเภท ตั้งแต่ขั้นธรรมดา ขั้นกลางคือขั้นอุปบารมีและขั้นสูงสุดคือขั้นปรมัตถบารมีให้เต็มเปี่ยมโดยมุ่งหวังพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นหลักชัยในการบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญขันติบารมีอย่างยิ่งยวดเช่น ขันติบารมีของพระจันทกุมาร ขันติบารมีของขันติวาทีดาบส เป็นต้นพระโพธิสัตว์ทั้งสองเป็นแบบอย่างของผู้บำเพ็ญขันติบารมี ขันติบารมีเป็นหนึ่งในสิบบารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญ ขันติบารมีนั้นเป็นคุณธรรมพื้นฐานของพระโพธิ์สัตว์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายความว่าแม้พระโพธิ์จะบำเพ็ญบารมีข้ออื่นๆ เช่น ทานบารมี ศีลบารมีเป็นต้น การบำเพ็ญบารมีนั้นก็ต้องมีขันติบารมีแทรกอยู่ด้วย เพราะถ้าขาดขันติคือความอดทนแล้ว การบำเพ็ญบารมีอย่างอื่นก็สำเร็จได้ยาก การบำเพ็ญขันติบารมีนั้น ต้องบำเพ็ญให้ครบทั้งสามระดับคือขันติบารมีระดับธรรมดา ขันติบารมีระดับกลางคือขันติอุปบารมีและขันติบารมีระดับสูงคือขันติปรมัตถบารมี
ดาวน์โหลด