บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑)ศึกษาการสร้างอุโบสถในพระพุทธศาสนา ๒)ศึกษากระบวนการสร้างอุโบสถกลางน้ำ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๓)ศึกษาคุณค่าและความสำคัญในการสร้างอุโบสถกลางน้ำ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การสร้างอุโบสถในพระพุทธศาสนานั้น ความสำคัญของการสร้าง คือ ใช้เป็นสถานที่ในการประกอบกิจ ๔ ประการ คือ การสวดปาติโมกข์ การกรานกฐิน การอุปสมบท และ อัพภาน การประกอบกิจทั้ง ๔ ประการถือเป็นสังฆกรรม จำต้องใช้โรงอุโบสถที่มีการกำหนดสีมาเป็นขอบเขตดำเนินการเท่านั้น แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอุโบสถตามยุคสมัยของประเทศไทย ระยะเริ่มแรกไม่มีการสร้างอาคารถาวร ส่วนใหญ่ใช้พื้นที่เปิดโล่ง อาศัยเพียงแนวสีมาปักแสดงเขตสำหรับทำสังฆกรรม ต่อมาเริ่มมีโรงอุโบสถที่มีสีมากำหนดเขตโดยรอบ มีขนาดไม่ใหญ่นัก แค่เพียงพอให้ภิกษุจำนวน ๒๑ รูปได้ประกอบพิธีสังฆกรรมและไม่ได้เน้นความสำคัญเท่าวิหาร ช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยธยาจนถึงปัจจุบัน อุโบสถมีความสำคัญมากที่สุด
แนวคิดในการสร้างอุโบสถกลางน้ำของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุที่มาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รูปแบบ ลักษณะ และองค์ประกอบของอุโบสถกลางน้ำที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น อยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ ๖ ไร่ พื้นที่ใช้สอยชั้นบน ๑๖๐ ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างเป็นฐานอุโบสถ มีขนาดกว้าง ๓,๕๐๐ ตารางเมตร
อุโบสถกลางน้ำคือ สถานที่หนึ่งที่รวมไว้ซึ่งพุทธศิลป์, สร้างคุณค่า ความสำคัญในด้านจิตใจ, นำมาซึ่งความสามัคคีและความมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยมีอุโบสถกลางน้ำของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้เป็นศูนย์กลาง
ดาวน์โหลด
|