การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการบริหารงานสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดกาญจนบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสังฆาธิการต่อประสิทธิผลในการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการพัฒนาประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี
วิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กับกลุ่มตัวอย่างคือพระสังฆาธิการในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๒๓๑ รูป จากจำนวนทั้งหมด ๕๔๔ รูป และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quantitative Research) ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ( The-Depth Interview)กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๘ ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการพรรณนาความ
จากการวิจัยพบว่า
๑) พระสังฆาธิการมีความเห็นต่อประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๐ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับประสิทธิผลมากที่สุด คือ ด้านสถานที่ให้บริการ รองลงมา คือ ด้านการปฏิบัติงานของบุคลากร และที่อยู่ในระดับสุดท้าย คือ ด้านการวางแผนงาน ซึ่งอยู่ในระดับมาก
๒) การเปรียบเทียบประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี โดยจำแนกตามข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า พระสังฆาธิการที่มี อายุ การศึกษาสามัญ การศึกษาแผนกธรรม และ การศึกษาแผนกบาลี ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี โดยรวม ไม่แตกต่างกัน ทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนพระสังฆาธิการที่มี พรรษา และ ประสบการณ์ทำงาน ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี โดยรวม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ โดยเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลการบริหารงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า (๑) ด้านการวางแผนงาน สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีควรเข้ามาดูแลให้คำแนะนำทันทีเมื่อได้รับคำร้องขอ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปศึกษาการทำงานของคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิด และควรมีการวางแผนประจำปีให้มากขึ้น และชี้แจงให้พระสงฆ์เข้าใจกว่าที่เป็นอยู่ (๒) ด้านกระบวนการให้บริการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีควรมีกระบวนการให้บริการที่ว่องไว และสะดวกให้มากขึ้น ควรมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้เร็วกว่าเดิมและเหลือเวลาพอที่คณะสงฆ์จะเตรียมงานทัน และเจ้าหน้าที่ควรเพิ่มการลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของวัดตามอำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มความสามารถ (๓) ด้านการปฏิบัติงานของบุคลากร สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีควรให้บุคลากรบริการอย่างเท่าเทียมกัน ควรเพิ่มเติมการจัดให้มีการอบรมเรื่องระเบียบการปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ให้มีความเข้าใจมากขึ้น และควรจัดให้มีการสัมมนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน (๔) ด้านสถานที่ให้บริการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีควรได้รับการขยายอาคารสถานที่ของสำนักงานเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ควรจัดโต๊ะ เก้าอี้ไว้รองรับพระสงฆ์ที่เข้าไปติดต่อกิจธุระ และควรจัดให้มีพนักงานจัดการจอดรถให้มีระเบียบ
|