การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารเชิงบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎีและหลักพุทธธรรมเกี่ยวข้องกับการบริหารเชิงพุทธบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓) เพื่อนำเสนอแบบจำลองการบริหารเชิงพุทธบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Designs) ระหว่างวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิธีวิจัยเชิงประมาณ ที่เน้นความสำคัญวิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative) เป็นหลัก และให้วิธีการเชิงปริมาณ (Quantitative) เป็นรอง การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วย ผู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ท้องถิ่นจังหวัด นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ไปทำการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลพบุรี จำนวน ๓๖๓ คน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ (Frequency),ค่าร้อยละ (Percentage), ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation ) และนำผลการวิจัยที่ได้มาสังเคราะห์แบบจำลองการบริหารงานเชิงพุทธบูรณการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussion) จำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักพุทธธรรม การบริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้เทคนิควิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยเทคนิค 6Cs Technique Analysis เพื่อยืนยันแบบจำลองที่สังเคราะห์ได้
ผลการวิจัยพบว่า
๑) สภาพการบริหารงานเชิงบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาพรวมอยู่ในระดับมาก แต่ยังมีปัญหาต่าง ๆ ในด้านการบริหารไม่เป็นไปตามระเบียบ ปัญหาการจัดสรรงบประมาณ ไม่เป็นไปตามความต้องการของชุมชน ปัญหาการบริการสาธารณะไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง ปัญหาการก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่ตรงความต้องการของชุมชน ด้านบริหารงานบุคลากรขาดความรู้ความสามารถ แต่ละด้าน
๒) การศึกษาแนวคิดเชิงทฤษฎีและหลักพุทธธรรมเกี่ยวข้องกับการบริหารเชิงพุทธบูรณาการ พบว่า การนำหลักอิทธิบาท ๔ มาใช้เป็นแนวทางหลักในการบริหารงานเชิงบูรณาการ และมีหลักพรหมวิหาร ๔ หลักสังคหวัตถุ ๔ หลักทิฏฐิธัมมิกัตถะประโยชน์ ๔ เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้การบริหารงานเชิงบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบความสำเร็จ
๓) แบบจำลองการบริหารเชิงพุทธบูรณาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการใช้เทคนิคการสร้างบูรณาการ ๓ ประการ (3C) ได้แก่ ร่วมมือ (Co-ordination) , ประสาน (Co-operation) และสอดคล้อง (Consistency) ในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓ ระดับ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล เกี่ยวกับสาระงานท้องถิ่น ๓ ประการ ได้แก่ การเงิน บุคลากร และการมีส่วนร่วม โดยกลุ่มงานท้องถิ่น 3 กลุ่ม ได้แก่ งานบริหาร งานบริการและงานสนับสนุน อันนำไปสู่คุณลักษณะของแบบจำลองการบริหารงานเชิงพุทธบูรณาการ ๓ ประการ ได้แก่ ความเป็นเอกภาพ ความเข้มแข็ง และความยั่งยืน การบริหารงานเชิงพุทธบูรณาการตามหลักพุทธธรรม ผู้บริหารท้องถิ่นใช้หลัก พรหมวิหาร ๔ ผู้ปฏิบัติงานใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ และผู้รับบริการใช้หลักทิฏฐิธัมมิกัตถะประโยชน์ ๔ โดยทุกภาคส่วนใช้หลักอิทธิบาทตามหลักการบริหารงานเชิงพุทธบูรณาการ เพื่อให้การบริหารงานท้องถิ่นประสบความสำเร็จ ซึ่งการใช้หลักพุทธธรรมดังกล่าว ทำให้การบริหารเชิงพุทธบูรณาการของท้องถิ่นมีความเป็นเอกภาพ เข้มแข็ง และยั่งยืน
|