การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการศาสนสมบัติของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพทั่วไปในการจัดการศาสนสมบัติของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ ๓) เพื่อนำเสนอการพัฒนารูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลจาก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๒๖ รูป/คน ด้วยแบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้าง โดยการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการศาสนสมบัติของวัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ๑) ปัจจัยด้านการบริการศาสนสมบัติวัด ให้เกิดการบริการเชิงสงเคราะห์ประชาชน ประชาชนรับรู้ถึงความมีเมตตาธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ๒) ปัจจัยด้านการควบคุมศาสนสมบัติวัด เป็นใช้การควบคุมตรวจสอบให้เกิดการจัดการศาสนสมบัติตอบความต้องทุกภาคส่วน ๓) ปัจจัยด้านการแต่งตั้งบุคลากรที่ดูแลรักษาและดำเนินการ เป็นการดึงบุคคลเข้าช่วยเหลืองานจัดการศาสนสมบัติวัดของเจ้าอาวาส ๔) ปัจจัยด้านการทำบัญชีรักษาศาสนสมบัติวัดและเงินผลประโยชน์ของวัด เป็นวิธีการแบบแผนที่เป็นฐานข้อมูลช่วยให้เจ้าอาวาสตัดสินใจจัดการศาสนสมบัติวัดได้เหมาะสม ๕) ปัจจัยจัดทำบัญชีให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสม เป็นการปรับรูปแบบบัญชีตามความเหมาะสมกับสภาพที่ผู้ปฏิบัติสามารถจัดทำบัญชีได้ ปัจจัยทั้ง ๕ มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานจัดการศาสนาสมบัติวัดของเจ้าอาวาส ซึ่งใช้ศิลปะให้เกิดการจัดการศาสนสมบัติวัดให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น วางแผน จัดการความสัมพันธ์บุคคล อำนวยการและควบคุมทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรอื่น ๆ ให้ดำเนินงานจัดการศาสนสมบัติวัดไปในทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
๒. สภาพทั่วไปในการจัดการศาสนสมบัติของวัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การจัดการเรื่องที่ดินของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในภาพรวมทั่วไป การจัดการทั่วไปอยู่ในสภาพที่เหมาะสมแต่ขาดการชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการจัดทำแผนงานระเบียบการจัดการศาสนสมบัติให้เป็นระบบมีต้นแบบให้เจ้าอาวาสสามารถปฏิบัติงานจัดการศาสนสมบัติได้ทันทีรูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีรูปแบบการจัดการ ๒ รูปแบบ คือ ๑) รูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามหลักกฎหมาย ดำเนินการตามคู่มือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒) รูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามจารีตประเพณีซึ่งไม่มีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร อนึ่งการดำเนินการจัดการศาสนสมบัติ ทั้ง ๒ รูปแบบส่งผลให้เกิดการรักษาศาสนสมบัติและผลประโยชน์ตอบแทนแก่วัดแตกต่างกัน และมีผลประโยชน์และปัญหาความต้องการที่เกิดขึ้นกับวัดแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่
๓. การนำเสนอการพัฒนารูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาการพัฒนารูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามกระบวนการจัดการ คือ กระบวนการที่เจ้าอาวาสและคณะบุคคลจัดการใช้ศิลปะและกลยุทธ์ต่าง ๆ ดำเนินตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าอาวาสกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์การ การตระหนักถึงความสามารถ ความถนัด ความต้องการและความมุ่งหวังด้านความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติงานการจัดการศึกษาศาสนสมบัติของวัดตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยรูปแบบการพัฒนาการจัดการศาสนสมบัติวัดทั้ง ๕ รูปแบบ ดังนี้๑)รูปแบบการบริการศาสนสมบัติวัด เน้นการบริการในลักษณะสงเคราะห์ประชาชนตามหลักเมตตาธรรมใช้ที่ดินวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด๒) รูปแบบการควบคุมศาสนสมบัติวัด เน้นการควบคุมตรวจสอบโดยปรับเปลี่ยนไปตามความสำคัญของปัจจัย ๓)รูปแบบการแต่งตั้งบุคลากรที่ดูแลรักษาและดำเนินการ เน้นการแต่งตั้งตามความเหมาะสมกับปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการศาสนสมบัติของวัด ๔)รูปแบบการทำบัญชีรักษาศาสนสมบัติวัดและเงินผลประโยชน์ของวัดเน้นวิธีการจัดทำบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด ๕. รูปแบบบัญชีให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสม โดยดำเนินการปรับรูปแบบบัญชีตามความเหมาะสมกับสภาพที่ผู้ปฏิบัติสามารถจัดทำบัญชีได้
|