การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และสมรรถนะของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีในเขตกรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อศึกษาสมรรถนะของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีตามหลักกัลยาณมิตรในเขตกรุงเทพมหานคร ๓) เพื่อนำเสนอสมรรถนะของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีตามหลักกัลยาณมิตรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods) ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครูผู้สอน จำนวน ๑๕๖ รูป ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญโดยการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม (Focus group Discussion) จำนวน ๒๔ รูป/คน จากนั้น นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (t-test) และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัย (Inductive analysis)
ผลการวิจัย พบว่า :
๑. สภาพการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และสมรรถนะของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี มี ๘ ด้าน คือ ด้านปรัชญาการสอนการเรียนพระปริยัติธรรม ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ด้านการวิจัยการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และด้านการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีนั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยด้านการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้
มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนด้านสื่อการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
๒. สมรรถนะครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีตามหลักกัลยาณมิตรในเขตกรุงเทพมหานคร มี ๔ กลุ่ม รวม ๑๒ สมรรถนะย่อย ได้แก่ ๑) กลุ่มสมรรถนะทั่วไป (General competency) ประกอบด้วย ๓ สมรรถนะย่อย คือ คุณธรรม จริยธรรม (Moral and Ethical), การสื่อสารที่ดี (Good Communication) และการเป็นแบบอย่างที่ดี (Good Role Model), ๒) กลุ่มสมรรถนะตนเอง (Individual Competency) ประกอบด้วย ๓ สมรรถนะย่อย คือ ภาวะผู้นำตนเอง (Self Leadership), การมีสติปัญญา (Emotional Intelligence) และการพัฒนาบุคลิกภาพตนเอง (Self Personality Development) ๓) กลุ่มสมรรถนะการทำงานกับคนอื่น (Working with Others Competency) ประกอบด้วย ๓ สมรรถนะย่อย คือ การทำงานเป็นทีม (Working in Teams), การช่วยเหลือผู้อื่น (Helping Others) และความเชื่อถือไว้วางใจได้ (Credibility) ๔) กลุ่มสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ (Learning Management Competency) ประกอบด้วย ๓ สมรรถนะย่อย คือ การจัดการชั้นเรียน (Classroom Management), ความรอบรู้ในการจัดการเรียนรู้ (Technical Learning Skill) และการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Using Innovation and Information Technology) ซึ่งสมรรถนะดังกล่าวนำไปพัฒนาการปฏิบัติงานของครูได้
๓. สำหรับรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ตามหลักกัลยาณมิตรในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถประยุกต์ใช้ “UDORN MODEL” ร่วมกับสมรรถนะทั้ง ๔ กลุ่ม ๑๒ สมรรถนะย่อย และบทบาทหน้าที่ของครูบาลีทั้ง ๘ ด้าน โดยอาศัย หลักกัลยาณมิตรเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการสอนบาลีให้ดียิ่งขึ้น
|