หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมบัติ ธนปญฺโญ (ฉลอง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
ยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา))
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมบัติ ธนปญฺโญ (ฉลอง) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมศักดิ์ บุญปู่
  บรรจบ บรรณรุจิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

 วัตถุประสงค์ของการวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษามีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร ๔ ด้าน ๒) เพื่อศึกษายุทธศาสตร์เชิงพุทธและการใช้ยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informants)๒๔ คน เลือกแบบเจาะจงจากผู้บริหารระดับผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เชิงพุทธที่มีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ผู้ปฏิบัติการคือครูประจำและครูสอนพิเศษ และผู้ที่เกี่ยวข้องภาครัฐ เครื่องมือในการเก็บข้อมูลได้แก่แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้าง(structured in-depth-interview) เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกต่อต่อตัว (face-to-face in-depth-interview) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการพรรณนาความ (descriptive interpretation)  

ผลการวิจัยพบว่า

    ๑. สภาพปัจจุบันและปัญหาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พบว่า (๑) ด้านวิชาการพบว่า บริหารจัดการโดยเน้นวิชาหลักในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ และเสริมวิชาพระพุทธศาสนา ในกลุ่มที่ ๔ คือ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม บางโรงเรียนมีวิชามากกว่าที่นักเรียนจะรับไหว ครูมีความรู้และทักษะในการสอนไม่เพียงพอ (๒) ด้านงบประมาณ โรงเรียนต้องวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับระบบราชการ งบประมาณไม่เพียงพอ ขึ้นอยู่กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจะจัดให้ (๓)  ด้านบุคลากรพบว่า ครูไม่ตรงสายงาน ครูมีการเปลี่ยนแปลง เข้าออกบ่อย ทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ไม่มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่เฉพาะทาง กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน งานทะเบียนไม่เป็นระบบเพราะขาดบุคลากร (๔) ด้านงานทั่วไปพบว่า ไม่มีงบประมาณในการขยายอาคารและสิ่งก่อสร้างเพื่อรองรับจำนวนนักเรียน ต้องใช้พื้นที่วัดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สรุปสภาพปัญหาปัจจุบันคือขาดงบประมาณและการบริหารจัดการไม่เป็นระบบ     

    ๒. การใช้หลักพุทธธรรมกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาพบว่า (๑) ด้านวิชาการ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาส่วนใหญ่ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เป็นหลัก “ครองตน ครองคน และครองงาน และเมตตาพรหมวิหาร (๒) ด้านงบประมาณ ใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ และธรรมาภิบาลมาปรับประยุกต์บูรณาการ เพื่อการบริหาร (๓) ด้านบุคลากร หรือการบริหารงานบุคคล ใช้หลักเมตตาพรหมวิหารธรรม ๔ และอิทธิบาท ๔ (๔) ด้านการบริหารทั่วไปไปพบว่า ใช้หลักอิทธิบาท ๔ และสัปปุริสธรรม ๗

    ๓. รูปแบบยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาได้นำเสนอยุทธศาสตร์เชิงพุทธมี ๕ ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย (๑) ยุทธศาสตร์ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารต้องมีการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพโดยใช้หลักพรหมวิหาร ๔ หลัก  สังคหวัตถุ ๔ และหลักสัปปุริสธรรม ๗ มาประยุกต์ใช้ควบคู่กัน (๒) ยุทธศาสตร์การทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนให้เข้มแข็งตรงตามมาตรฐานโดยใช้หลัก“สังคหวัตถุ ๔ และหลัก   ธรรมาภิบาลควบคู่กัน (๓) ยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจโดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาโดยใช้หลักอิทธิบาท ๔ และหลักสังคหวัตถุ ๔ ควบคู่กัน (๔) ยุทธศาสตร์การกำหนดความรับผิดชอบผู้บริหารโดยการสร้างแผนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและนอกโดยใช้หลักพรหมวิหารธรรมและผู้บังคับบัญชาใช้หลักอิทธิบาท ๔ ควบคู่กัน (๕) ยุทธศาสตร์การวางแผนและการมีส่วนร่วมโดยการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยหลักพรหมวิหาร ๔ และหลักสัปปุริสธรรม ๗ ควบคู่กันโดยใช้หลักวิเคราะห์แบบสวอท (SWOT) เพื่อหา จุดเด่น จุดอ่อน โอกาสพัฒนา ภาวะคุกคาม เป็นตัวชี้วัด

    ยุทธศาสตร์เชิงพุทธในการบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษานั้นต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างศาสนทายาทที่มีปัญญาและเปี่ยมด้วยคุณธรรม ผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางด้านพระพุทธศาสนา มีเป้าประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีองค์ความรู้ทั้งภูมิธรรมและภูมิความรู้ที่สมบูรณ์ มีการจัดการศึกษาที่ได้มาตรฐาน จำนวนผู้ศึกษาชาวต่างชาติต่อปีเพิ่มขึ้น ชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องมาตรฐานมีชีวิตที่ดีขึ้นให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาวโลกเพื่อการนับถือปฏิบัติ และมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนให้เข้มแข็งตรงตามมาตรฐาน กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนา สร้างแผนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและนอกประเทศ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕