การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาการจัดการเรียนการสอนของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาประกอบด้วย ผู้บริหารและครูจำนวน ๒๖ รูป นักเรียน จำนวน ๙๗ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t- test and F- test
ผลการศึกษาพบว่า
๑. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนของสำนักเรียนทั้ง ๕ด้านพบว่า ด้านหลักสูตรอยู่ในระดับมาก รองลงมาอยู่ในระดับปานกลางคือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผล ตามระดับ
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ทั้ง ๕ ด้าน คือ ด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน และ ด้านการวัดผลและประเมินผล พบว่า ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. ผู้บริหารครูผู้สอนและนักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของสำนักเรียน ดังนี้ ๑) ปัญหาอุปสรรคด้านหลักสูตร คือ เนื้อหาของหลักสูตร มีมากเกินไป ขาดการแก้ไขปรับปรุง ให้เหมาะกับผู้เรียนในปัจจุบัน ๒) ด้านการจัดการเรียนการสอน คือ การจัดครูเข้าสอนยังไม่เป็นระบบ ขาดแผนการเรียนการสอนที่ชัดเจน และการสอนขาดความยืดหยุ่น ๓) ด้านสื่อการเรียนการสอน คือ สื่อที่ทันสมัยมีไม่เพียงพอ สื่อที่มีอยู่ขาดคุณภาพ ๔) ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน คือ กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน มีน้อยเกินไป ๕) ด้านการวัดผลและประเมินผล การวัดผลเน้นความจำเป็นหลัก และขาดการบันทึกข้อมูลที่เป็นระบบ
แนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม คือ ๑) ด้านเนื้อหาที่สอนควรเลือกเฉพาะข้อธรรมที่เหมาะต่อการใช้ในชีวิตจริงของผู้บวชใหม่ ๒) ด้านการจัดการเรียนการสอน ควรจัดพาหนะแก่ผู้เรียนและเน้นพระเณรในปกครองว่า ให้ตระหนักในการเรียน ๓) ด้านสื่อการเรียนการสอน ควรมีสื่อที่ทันสมัย เช่นคอมพิวเตอร์และเครื่องฉายสไลด์มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน ๔) ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ๕) ด้านการวัดผลและประเมินผล ควรวัดและประเมินผลให้ทั่วถึง เพื่อจะได้นำผลการประเมินมาปรับปรุงการเรียนการสอน
|