หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เกรียงไกร จันทะแจ่ม
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียน สัตยาไส จังหวัดลพบุรี (การบริหารการศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : เกรียงไกร จันทะแจ่ม ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิน งามประโคน
  อินถา ศิริวรรณ
  สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

                   การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะและแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนสัตยาไส  จังหวัดลพบุรี ประชากรคือครูและผู้บริหาร  จำนวน  ๓๗ คน  และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖  จำนวน  ๗๗  คน

              เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามตามความคิดเห็นของประชากรแล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป โดยใช้สถิติค่าร้อยละ (percentage) และค่าเฉลี่ย (μ)

ผลการวิจัย

              สภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาของผู้บริหารและครู  ด้านปัจจัยนำเข้า  สภาพแวดล้อมโรงเรียนสะอาด ร่มรื่นเป็นธรรมชาติ เงียบสงบเอื้อต่อการเรียนการสอน ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ บุคลากรมีประสบการณ์ในการสอนตามหลักไตรสิกขาที่แตกต่างกัน รูปแบบวิธีการสอนของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน โดยมีข้อเสนอแนะให้ฝึกอบรมไตรสิกขาแก่บุคลากรโดยเน้นที่การปฏิบัติจริงและจัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา  ขณะที่ด้านกระบวนการ พบว่าโรงเรียนจัดบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตรทั้งนักเรียน ครูและผู้ปกครอง  ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ครูและผู้บริหารมีความเป็นแบบอย่างที่ดีในโรงเรียนแต่ขาดการประสานสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนในลักษณะที่เป็นโรงเรียนและชุมชนวิถีพุทธ  โดยเสนอแนะให้นำนักเรียนร่วมทำกิจกรรมของวัดและชุมชนเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์และเจตคติที่ดีต่อกัน  สำหรับด้านผลผลิตนั้นโรงเรียนจัดกิจกรรมการพัฒนากาย ศีล จิตและปัญญาอยู่เสมอส่งผลให้นักเรียนเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี แจ่มใส ร่าเริงเบิกบาน  ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ ยังไม่มีเครือข่ายความร่วมมือ


ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนในการส่งเสริมการพัฒนานักเรียนตามหลักไตรสิกขา  โดยเสนอแนะ ให้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนานักเรียนตามหลักไตรสิกขาอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านผลกระทบ พบว่านักเรียนสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนของตนได้อย่างมีความสุข ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ การจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขาขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากชุมชน  และได้เสนอให้ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างความร่วมมือกับชุมชนและผู้ปกครอง

              สภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาของนักเรียน  ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับผู้บริหารมีความจริงใจในการทำงาน ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ ครูมีลักษณะและทัศนคติที่ต่างกันในการจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการอบรมบุคลากรในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมเพื่อให้ครูมีทัศนคติที่ตรงกัน  สำหรับด้านกระบวนการ พบว่าโรงเรียนส่งเสริมบุคลากรและนักเรียนให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ ในโรงเรียนมีความเป็นแบบอย่างที่ดีแต่ขาดการประสานสัมพันธ์กับชุมชนซึ่งสอดคล้องกับอุปสรรคของสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาของครูและผู้บริหาร โดยเสนอให้จัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์อย่างเป็นกัลยาณมิตรระหว่างครู ผู้บริหาร นักเรียนและชุมชน  ในด้านผลผลิต พบว่า นักเรียนมีความเชื่อมั่นในผลการกระทำความดี จากการจัดกิจกรรมการพัฒนากาย ศีล จิตและปัญญาของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ   ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ยังไม่มีการติดตามพัฒนาการของนักเรียนที่ครบถ้วนทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง โดยมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมการฝึกสมาธิ เจริญปัญญาในชุมชนด้วย ส่วนด้านผลกระทบ พบว่า  นักเรียนมีความเห็นสอดคล้องกับผลผลิต คือ เห็นผลดีของการกระทำความดีของตน  ซึ่งปัญหาอุปสรรคคือ การดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขายังขาดความร่วมมือย่างจริงจังจากชุมชน  เนื่องจากผู้ปกครองยังไม่เข้าใจหลักการจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา โดยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรประสานความร่วมมือในการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาอย่างจริงจังจากชุมชน และทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในด้านการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕