การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำแนกตามคุณลักษณะส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษา ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ดำเนินวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) โดยการวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งศึกษาจากพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำนวน ๒๕๔ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ แบ่งตามภารกิจในการบริหารจัดการงานของวัด ๖ ด้าน และตอนที่ ๓ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธี LSD (Least Significant Difference) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ( In-depth Interview)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ระดับความคิดเห็นของพระสงฆ์ ที่มีต่อการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
๒. การวิเคราะห์การเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระสงฆ์ ที่มีต่อการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล โดยภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่พระสงฆ์ ที่มีอายุ วุฒิการศึกษา วุฒิการศึกษานักธรรมต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนพระสงฆ์ที่มี พรรษาและวุฒิการศึกษาบาลี มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ การบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ พบว่า พระสังฆาธิการขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการในองค์การ, ขาดงบประมาณในการสนับสนุนการศึกษา, ยังไม่มีการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ในการเผยแผ่ ในด้านสิ่งก่อสร้างดูแลถาวรวัตถุยังขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการอยู่อีกมากและวัดกับชุมชนขาดการติดต่อประสานงานที่ดีต่อกันในการจัดกิจกรรม
ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม คือ พระสังฆาธิการควรมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการในองค์กร, ควรหางบประมาณในการสนับสนุนการศึกษาจากภาครัฐ, ควรมีการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ความเข้าใจวิธีการเผยแผ่ธรรมะ ควรมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยดูแลประสานงานในถาวรวัตถุภายในวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอยู่เสมอและวัดกับชุมชนควรมีการประสานงานในการจัดกิจกรรมด้วย
จากการสัมภาษณ์ทำให้เห็นว่าการบริหารจัดการงานของวัดโดยการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ ตามความคิดเห็นของพระสงฆ์ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมมีการดำเนินอยู่แล้ว แต่ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการงานของวัดให้พระภิกษุสงฆ์ให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงานของวัดต่อไป
|