การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของพระภิกษุต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา ในจังหวัดนครปฐม ๒. เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐม ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษาของพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐม
ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Research) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) ซึ่งศึกษาความคิดเห็นของพระภิกษุต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา ในจังหวัดนครปฐม จำนวน ๓๓๑ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของพระภิกษุต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา ในจังหวัดนครปฐม และ ตอนที่ ๓ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษาของพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครปฐม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระภิกษุและพระสังฆาธิการมีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๑๙ และเมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า พระภิกษุและพระสังฆาธิการมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐม มากที่สุด คือ การจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับบาลีและหรือนักธรรมขึ้นภายในวัด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๘, รองลงมา การควบคุมดูแลและส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนนักธรรมบาลีแก่พระสังฆาธิการอย่างทั่วถึง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๖ และสุดท้าย ครูสอนธรรมศึกษาสอนเนื้อหาส่งเสริมให้เกิดความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๗๑
๒. พระภิกษุและพระสังฆาธิการที่มีสถานภาพต่างกันมีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นข้อ พบว่า พระภิกษุและพระสังฆาธิการที่มีสถานภาพต่างกันมีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐม ในข้อ ๙.มีแนวคิดหรือจัดการศึกษาให้มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม, ๑๐.มีแนวคิดหรือจัดการศึกษาให้มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม, ๑๑.มีแนวคิดหรือจัดตั้งโรงเรียนศาสนสงเคราะห์และมีการสนับสนุนส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง, ๑๓.ครูสอนธรรมศึกษาสอนเนื้อหาส่งเสริมให้เกิดความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ๑๔.ครูสอนธรรมศึกษาสอนเนื้อหาส่งเสริมให้เกิดความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ และ ๑๕.มีความคิดจะจัดตั้งหรือจัดตั้งโรงเรียนธรรมศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ส่วนข้ออื่นๆ พระภิกษุและพระสังฆาธิการมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
๓. ปัญหาส่วนใหญ่ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา คือ ทุนสนับสนุนและการนำโอกาสการให้ความรู้แก่ประชาชนที่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอนให้นำปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ยังมีไม่มาก
๔. สรุปจากการสัมภาษณ์ ทำให้เห็นว่าการศาสนศึกษาในจังหวัดนครปฐมมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ให้มีความรู้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นกำลังในสั่งสอนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
๕. ข้อเสนอแนะต่อการบริหารกิจการคณะสงฆ์ด้านการศาสนศึกษา ควรมีพระสังฆาธิการที่มีการบริหารจัดการในด้านต่างๆของด้านการศาสนศึกษาให้สมบูรณ์ เพราะหากคณะสงฆ์มีความพร้อมในการรองรับด้านการศาสนศึกษา แล้ว ย่อมทำให้ประชาชนมาวัดแล้วเกิดศรัทธา เกิดความยินดี เกิดความสุขใจ มาทำบุญ ทำกุศลต่างๆ
|