เข้าชม : ๒๑๐๔๙ ครั้ง |
วิเคราะห์ ปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา(๒๕๔๘) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ |
ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ |
|
ศ.พิเศษ. จำนงค์ ทองประเสริฐ |
|
ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ |
วันสำเร็จการศึกษา : |
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ |
|
บทคัดย่อ |
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระ
ราชดำริ กับ หลักธรรมในพระพุทธศาสนา” ( An Analylical Study of H.M. the King’s Sufficiency Economy and Buddhism) เล่มนี้เป็นการศึกษาวิจัย ผสมผสานระหว่างการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเชิงปริมาณ (Quantitative Research)โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะศึกษาและวิเคราะห์ปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ที่เป็นกระบวนวิธีภาคปฏิบัติเบื้องต้นส่วนหนึ่ง ในเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยังยากจนกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่า มีความสอดคล้องต้องกันและเป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างไรและในมิติใดบ้างจากการศึกษา และวิเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวผู้ทำการ ศึกษาและเรียบเรียงวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ได้พบสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิด“ทฤษฎีใหม่” อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของพสกนิกรชาวไทยทุกระดับตั้งแต่บุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาตินั้น มีรากฐานมาจากพุทธธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการเดินทางสายกลางในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือหลักมัชฌิมาปฎิปทาในพระพุทธธรรมนั่นเอง นอกไปจากนี้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริยังสอดคล้อง และมีพื้นฐานมาจากองค์ธรรมในพระพุทธศาสนาเกือบทุกประการเช่นหลักในเรื่องของความสันโดษ ความพอเพียงความสมถะ ความไม่โลภ ไม่เบียดเบียน ความมีเมตตา เกื้อกูลที่ชีวิตพึงมีต่อชีวิต ต่อชุมชน ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีสัมมาอาชีวะ เป็นต้น
วิทยานิพนธ์ ฉบับนี้ นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์เทียบเคียง ปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ศึกษาเทียบเคียงผลของการพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากับแนวทางการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่ามีกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างไร ทั้งแนวความคิด ทฤษฎี และการดำเนินการ ตลอดจนในท้ายที่สุดได้ศึกษาเปรียบเทียบ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับหลักพุทธธรรมในองค์ธรรมที่สำคัญและหลักธรรมโดยทั่วไป และเสนอแนะในบทสรุปด้วยว่าจะดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ซึ่งการศึกษาวิจัย จากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ปรากฏผลโดยสรุปว่า
การพัฒนาประเทศในช่วง ๕ ทศวรรษที่ผ่านมานั้นชี้ให้เห็นชัดถึงผลการพัฒนาที่ไม่สมดุลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เกิดปัญหาความยากจนและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนอกไปจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยภายใต้กระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมยังก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรม จริยธรรม และค่านิยม ในวิถีชีวิตที่ดีงามของคนไทยอย่างรุนแรงอีกด้วย ขณะเดียวกันกับที่โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๓๐๐๐ โครงการที่มุ่งเน้นความ พออยู่ – พอกิน พอเพียงและคุณภาพชีวิตของประชากรที่ได้น้อมนำเอาหลักพระพุทธธรรมมาเป็นแนวทางการพัฒนาของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการแก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์ จนกระทั่งภาครัฐได้น้อมนำเอาไปเป็นปรัชญานำในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย ผลของการศึกษาวิจัยจากวิทยานิพนธ์ ฉบับนี้ ยังได้ข้อสรุปด้วยว่า การพัฒนาประเทศตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีรากฐานมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา นั้น จะทำให้สังคมและประเทศชาติ ดำเนินไปได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน มีดุลยภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนอกไปจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ยังได้ทำการศึกษาเชิงปริมาณเป็นกรณีศึกษาผลสัมฤทธิ์ของ ๔๔ ครัวเรือน เกษตรทฤษฎีใหม่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเป็นตัวอย่างของการอ้างอิงด้วยการศึกษาวิเคราะห์ปรัชญา และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ในครั้งนี้ นอกจากจะพบผลการศึกษาที่น่าสนใจยิ่งอย่างเป็นระบบแล้วยังทำให้ได้พบว่าพระพุทธธรรมซึ่งมีมานานกว่าสองพันห้าร้อยสี่สิบเจ็ดปี(พ.ศ.๒๕๔๗) นั้น ไม่เคยล้าสมัยเป็นสิ่งคงทนเที่ยงแท้แน่นอน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับกิจกรรมทั้งปวงทั้งในโลกของฆราวาสธรรมและโลกุตรธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเด่นชัด ถึงความเป็นจริงข้อนี้ อย่างปฏิเสธมิได้
Download : 254809.pdf |
|
|