วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการบัญชี ๒) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการศาสนสมบัติและบัญชีของวัดในพระพุทธศาสนา ๓) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการบัญชีของวัด ในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ (Key Informant) ได้แก่ พระสังฆาธิการจำนวน ๑๐ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Form) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ ประกอบการสังเกตของผู้วิจัย
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การบัญชีนั้นเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนของการจัดทำรายงานทางการเงิน เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบครอบในการปฏิบัติงาน รวมทั้งบุคลากรต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ พร้อมด้วยคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ล้วนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริหารงานการบัญชี สามารถประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยการจดบันทึกเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจขององค์กรที่สามารถระบุค่าเป็นหน่วยเงินตราได้ และนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อทำการสรุปผลลัพธ์ในขั้นสุดท้ายตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป รวมถึงการวิเคราะห์และแปลความหมายของข้อมูลต่างๆ ในรายงานทางการเงิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในด้านต่างๆ แก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ให้ความสนใจในกิจกรรมทางการเงินขององค์กร
๒) ศาสนสมบัติ ได่แก่ ศาสนสมบัติกลาง คือ ทรัพย์สินของพระศาสนา ซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง และศาสนสมบัติของวัด คือ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง บัญชีของวัดในพระพุทธศาสนา คือ การบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สิน เงินทอง เป็นต้น ให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) ซึ่งไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย
๓) วิธีปฏิบัติทางการบัญชีและระบบการบัญชีของวัดในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่ยังไม่เหมาะสมตามแนวทางการปฏิบัติทางการบัญชี และขาดการควบคุมภายในที่ดี โดยเฉพาะระบบการจ่ายเงินและทรัพย์สิน ผู้จัดทำบัญชีส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์และขาดความรู้ด้านการบัญชี นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการดูแลทรัพย์สินและการจัดทำบัญชี ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตได้ง่าย การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้แนะนำระบบบัญชีที่เหมาะสมอันจะนำไปสู่การจัดทำบัญชีและการควบคุมภายในที่ดี การเสนอรูปแบบของเอกสารบัญชี รายงานทางการเงิน รวมถึงวิธีการตรวจสอบการควบคุมภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมภายในให้ดียิ่งขึ้น
|