การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของประชาชนในการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ (๒) เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนในการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ โดยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยผสมผสานหรือประสานวิธีโดยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการเก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากประชาชนผู้เข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิด และปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) และโดยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative + Attire Research) จากการวิเคราะห์เนื้อหาของเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Document Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (Intertie) จำนวน ๕ คน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความพึงพอใจของประชาชนต่อการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๑ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านสถานที่ใช้ในการฝึกอบรม, ด้านรูปแบบการอบรม, ด้านเนื้อหาสาระ และด้านวิทยากรอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนต่อการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า สถานภาพส่วนบุคคลด้านเพศ, อายุ, อาชีพ และระดับการศึกษาของประชาชน มีผลทำให้ความพึงพอใจของประชาชนต่อการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้ง
๓. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการเข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๑๘ ได้แก่ (๑) ด้านสถานที่ใช้ฝึกอบรม ได้แก่ จัดตาราง หรือแผนที่นั่ง เวลาปฏิบัติธรรม มีการระบุหมายเลขเพื่อความเป็นระเบียบ, จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่ต้องการมาลงทะเบียนปฏิบัติธรรม ให้สามารถเข้าใจและลงทะเบียนได้ง่าย และควรจัดสถานที่เพิ่มหรือถ้าจัดไม่ได้ ก็ไม่ควรรับผู้เข้ารับการอบรมมากเกินไป (๒) ด้านรูปแบบการสอน ได้แก่ ควรสนับสนุนให้พระสงฆ์หันมาใช้สื่อประกอบการบรรยายธรรม เพื่อสร้างความสนใจแก่กลุ่มผู้ฟัง, เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมควรจัดให้มีการอบรมเทคนิคในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการช่วยอบรม และ ควรให้การสนับสนุนการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยอาจร่วมมือกันจัดทำเพื่อเผยแผ่ในระดับอำเภอ เป็นต้น (๓) ด้านเนื้อหาสาระ ได้แก่ ควรสนับสนุนให้พระสงฆ์หันมาใช้สื่อประกอบการบรรยายธรรม เพื่อสร้างความสนใจแก่กลุ่มผู้ฟัง, เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมควรจัดให้มีการอบรมเทคนิคในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการช่วยอบรม และควรปรับปรุงเนื้อหาให้เข้าใจง่าย และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสามารถปฏิบัติได้ (๔) ด้านวิทยากร ได้แก่ วิทยากรควรมีการอบรมเพื่อให้สามารถตอบปัญหาที่ผู้ปฏิบัติธรรมถามได้ทุกคำถาม, วิทยากรควรเตรียมความพร้อมให้พร้อมที่จะสอนการปฏิบัติธรรม และวิทยากรควรพร้อมรับฟังข้อซักถามต่างๆ จากผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความอดทนไม่เบื่อหน่าย
|