การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อการศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยม ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ที่เก็บรวบรวมโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนพลอยจาตรุจินดา, โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครปฐม, โรงเรียนเพิ่มวิทยา, โรงเรียนแหลมบัววิทยา, โรงเรียนภัทรญาณวิทยา, และโรงเรียนงิ้วรายบุญมีรังสฤษฏ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม ศึกษา เขต ๙ จำนวน ๙๓๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อมูลภาคสนามและแบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้โปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติร้อยละสำหรับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และใช้สถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับระดับความคิดเห็น ข้อมูลจากการบันทึกภาคสนามใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมทุกด้านอยู่ในระดับมาก (x) เท่ากับ ๔.๐๗ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการเรียนการสอน อยู่ในระดับสูงที่สุด (x) เท่ากับ ๔.๐๙ และด้านการสั่งสอนอบรมทางจริยธรรม อยู่ในระดับน้อยที่สุด (x) เท่ากับ ๔.๐๕
๒. ผลการเปรียบเทียบบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำแนกตาเพศ อายุ ระดับการศึกษา และระดับผลการเรียน พบว่า ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ด้านการสั่งสอนอบรมทางจริยธรรม , ด้านการสนับสนุนกิจกรรมทางจริยธรรม , ด้านการให้คำแนะนำปรึกษาทางจริยธรรม , ด้านการเรียนการสอน ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกข้อ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเป็นการปฏิเสธสมมติฐานการวิจัยทุกข้อที่ตั้งไว้
๓. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พบว่า ๑) ด้านการสั่งสอนอบรมทางจริยธรรม พระสงฆ์ควรเข้าไปจัดกิจกรรมให้มีการอบรมในโรงเรียนมากขึ้น และพระสงฆ์ควรใช้สื่อที่เข้าใจง่ายเพื่อดึงดูดเยาวชน ๒) ด้านการสนับสนุนกิจกรรมทางจริยธรรม ควรจัดกิจกรรมที่สนับสนุนให้เพิ่มมากขึ้นเช่น ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น และควรจัดกิจกรรมให้มีความต่อเนื่อง ๓) ด้านการให้คำแนะนำปรึกษาทางจริยธรรม พระสงฆ์ควรมีการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้มากยิ่งขึ้น และควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นในสาระการเรียนรู้นั้นๆ ๔) ด้านการเรียนการสอน ควรใช้สื่อการเรียนการสอนที่สนับสนุนสาระการเรียนรู้ ไม่เน้น เนื้อหาที่เข้าใจยาก
|