การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตามความคิดเห็นของนักเรียน ๒) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตามความคิดเห็นของนักเรียน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำนวน ๓๔๗ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๗๕๕ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) โดยการทดสอบสมมติฐานค่าที (T–test) และค่าเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่ม ขึ้นไป และเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย (= ๔.๐๓) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ด้านกิจกรรมในโรงเรียนที่จัดทำขึ้นในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม อยู่ในระดับรองลงมา คือ ด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมการเรียนการสอนแก่นักเรียน และอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล โดยภาพรวม พบว่า นักเรียนที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างกัน มีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนนักเรียนที่มีโรงเรียนที่ศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา แตกต่างกัน ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
ผลสังเคราะห์บทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา พบว่า ผู้บริหารโรงเรียน มีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษาตามหลัก สูตรธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก และสถานที่เป็นที่สบายในการเรียนรู้ โดยมีครู อาจารย์เอาใจใส่ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพและศักยภาพของตน โรงเรียนเป็นสถาบันศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่งในด้านการให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียน เพื่อให้มีความรู้ในวิชาต่าง ๆ รวมถึงสังคมศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม และลัทธิศาสนาเป็นตน จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
๓. ปัญหาที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา พบว่า การสอนวิชาพระพุทธศาสนายังใช้สื่อการสอนที่ไม่ทันสมัย และไม่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระ การเรียนมีสภาพที่ไม่เหมาะต่อการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา การจัดกิจกรรมน่าเบื่อ เพราะเป็นเพียงการจัดเพื่อให้นักเรียนจะมานั่งดูนั่งฟังให้หมดเวลา โดยไม่ให้นักเรียนแสดงออก หรือไม่มีโอกาสแสดงออก หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอ
ข้อเสนอแนะต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับมัธยมศึกษา คือ ผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรมีการจัดสิ่งแวดล้อม มีป้ายแสดงรายชื่อนักเรียนที่มีจริยธรรมดีเด่นของโรงเรียน มีการใช้พุทธสุภาษิต คำคม คำกลอน และให้ความสำคัญกับกิจกรรมสามัคคีในหมู่คณะ กิจกรรมพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ โดยส่งเสริมให้มีการฝึกปฏิบัติธรรม และมีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา เนื้อหาเหมาะสมกับเวลาเรียน และเหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น
|