การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรี (๒) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรีตามความคิดเห็นของผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียน โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ดำเนินการศึกษาโดยการใช้ระเบียบวิจัยแบบผสม (Mixed Method Research) กล่าวคือ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยทำการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Analysis) กับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In Depth Interview) และระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียน สำนักศาสนศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๒๗๐ รูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์โดยการทดสอบค่าเอฟ (F - test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way analysis of variance) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียน ประจำสำนักศาสนศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี มีความคิดเห็นต่อผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี ๓ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๕ และเมื่อพิจารณาเป็นด้าน พบว่า ด้านสถานที่ ด้านเนื้อหาและหลักสูตร อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านบุคลากรอยู่ในระดับปานกลาง
๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียน ประจำสำนักศาสนศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี มีความคิดเห็นต่อผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคลโดยรวม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ พรรษา วุฒิการศึกษาทางเปรียญธรรม ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีวุฒิการศึกษาสามัญ และวุฒิการศึกษาทางธรรม ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ จังหวัดสุพรรณบุรี แตกต่างกัน ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓) ข้อเสนอแนะคณะสงฆ์ควรให้การสนับสนุน ทั้งงบประมาณและบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการจัดการศึกษาภาษาบาลีอย่ากว้างขวางและแพร่หลาย ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างของหลักสูตรและรูปแบบวิธีการวัดผลประเมินผลการศึกษาที่ทันสมัย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนมากที่สุด เพื่อเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาต่อไป
|