การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันและสภาพปัญหาวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสังคมไทย ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยตามหลักพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ ใช้วิธีวิจัยแบบผสมวิธี โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยที่วิธีการเชิงคุณภาพนั้น ศึกษาแนวคิดและวิธีปฏิบัติดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา และการแพทย์แผนปัจจุบัน สำหรับวิธีการเชิงปริมาณได้ใช้การวิจัยเชิงทดลองและได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในศึกษาจากประชาชนที่มีอายุ ๑๘-๗๐ ปี ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๑๐๐ คนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการบำบัดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ ประกอบด้วย ชุดธรรมปฏิบัติ ๓ ส ๓ อ ๑ น แบบชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF–THAI) และแบบประเมินสภาวะอารมณ์ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับการวิเคราะห์ผลการวิจัย ใช้การวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑) โรคเรื้อรัง คือ โรคที่มีการดำเนินโรคยาวนานและค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เป็นความบกพร่อง หรือเบี่ยงเบนจากปกติที่มีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับคือสู่ปกติ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ การใช้ยาในการรักษา การใช้แพทย์ทางเลือก และการควบคุมอาหาร และวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสังคมไทย คือการพัฒนาระบบการให้การบริการ ส่งเสริมการดูแลตนเอง การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ การส่งเสริมสุขบัญญัติในการดูแลตนเอง การจัดการปัญหาภาวะความซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
๒) แนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ได้ใช้การรักษามีวิธีการที่แตกต่างกันตามลักษณะต่างๆ มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลทางร่างกาย เช่น การรักษาโดยใช้ตัวยา การใช้ธรรมะในการรักษาโรค การรักษาอาการป่วยด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน การควบคุมการรับประทานอาหาร หมั่นเดินออกกำลังกาย และหมั่นประพฤติธรรม ซึ่งหลักการเหล่านี้สามารถควบคุมโรคได้ และมีหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่มุ่งประโยชน์โดยตรง สามารถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น หลักอริยสัจ ๔ อธิษฐานธรรม ๔ โภชเนมัตตัญญุตา อิทธิบาท ๔ โยนิโสมนสิการ อปัณณกปฏิปทา เป็นต้น
๓) รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ ประกอบด้วย C (Chanting) การสวดมนต์ M (Meditation) การปฏิบัติ สมาธิ D (Dhamma discussion) การสนทนาธรรม E (Eating) การรับประทานอาหาร E (Exercise) การออกกำลังกาย E (Emotional control) การควบคุมอารมณ์และ D (Daily life activity around the clock) การปฏิบัติตนตามวงรอบของชีวิตประจำวัน หรือ เรียกว่า “CMDEEED” ซึ่งรูปแบบการดูแลรักษาที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นการบูรณาการเชิงพุทธร่วมกับวิธีการดูแลรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และจะมุ่งเน้นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และผลการนำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการไปทดลองใช้ พบว่า ระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรังของกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่คุณภาพชีวิตโดยรวมมีค่าเฉลี่ยระดับคุณภาพชีวิตหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ และระดับความซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มทดลองก่อนและหลังการศึกษา พบว่า หลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยของภาวะความซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
|