การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เจ้าสำนักปฏิบัติธรรม พระวิปัสสนาจารย์ เจ้าหน้าที่ประสานงานประจำสำนักปฏิบัติธรรม และผู้ปฏิบัติธรรม ในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๓๘๙ รูป/คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ เกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตอนที่ ๓ เป็นแบบสอบถามปลายเปิด เกี่ยวกับความคิดเห็นในปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
ประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านวิทยากร และด้านสถานที่ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน แล้วพบว่า ประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านการบริหารจัดการ และด้านอาคารสถานที่ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านวิทยากร อยู่ในระดับมาก
การเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๔ ด้าน คือ สถานภาพ อายุ ตำแหน่ง ระดับการศึกษา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสถานภาพ อายุ ตำแหน่ง และระดับการศึกษา แตกต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่แตกต่างกันทุกด้าน
ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พอสรุปได้ดังนี้ คือ ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ ขาดการจัดทำสถิติและข้อมูลการปฏิบัติธรรม ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง และการดูแลสถานที่ไม่ทั่วถึง ด้านวิทยากร ได้แก่ วิทยากรมีน้อย ขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงและการทำกิจกรรมใช้เวลานานเกินไป และด้านสถานที่ ได้แก่ ในบางพื้นที่ไม่ค่อยสะอาด ที่พักและห้องน้ำไม่เพียงพอ
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พอสรุปได้ดังนี้ คือ ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ ควรมีการจัดทำสถิติและข้อมูลการปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป และประชาสัมพันธ์การปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ด้านวิทยากร ได้แก่ ควรเพิ่มจำนวนวิทยากรให้มากขึ้น และจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้แก่วิทยากรให้มากขึ้น และด้านสถานที่ ได้แก่ ควรเพิ่มจำนวนห้องน้ำและห้องพักให้เพียงพอกับผู้ปฏิบัติธรรม และดูแลเรื่องความสะอาดเพิ่มขึ้น
|