การวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการ :กรณีศึกษาวัดในเขตเทศบาลตำบลพระอินทราชา อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (๑) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการ : กรณีศึกษาวัดในเขตเทศบาลตำบลพระอินทราชา อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒) เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการ ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพระอินทราชา อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๗,๐๐๖ คน โดยใช้ประชากรกลุ่มตัวอย่าง จากการเปิดตารางของยามาเน่ ๓๗๘ คน เป็นผู้ตอบแบบสอบถาม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพส่วนบุคคลและ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อบรรยายข้อมูลสถานภาพส่วนบุคคลหรือตัวแปรต้น การทดสอบค่าเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่า มีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Seheffe’s Method) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
ผลการวิจัยพบว่า
ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีจำนวน ๒๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๙๑มีสถานภาพสมรสแล้ว จำนวน ๑๙๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๖๕ มีอายุ ๒๐-๓๐ ปี จำนวน ๑๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๔๕ มีวุฒิทางการศึกษาปริญญาตรี จำนวน ๒๓๘ คน คิดเป็นร้อยละ๖๒.๙๖และมีรายได้ ๗,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑๒๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓๓ จากผลของการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการวัดในเขตเทศบาลตำบลพระอินทราชา อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๗ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ในด้านสภาพแวดล้อม โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๙ ในด้านรูปแบบ,พิธีการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๐ ในด้านความเชื่อ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๓ ส่วนในด้านความต้องการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๔
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสาธารณูปการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันตาม สถานภาพ อายุ การศึกษา รายได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนเพศของประชาชนต่างกัน การมีส่วนร่วมในการสร้างสาธารณูปการไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
|